"ลานีญา" มาช้า ล่าไปปลายปี ฝนใต้หนัก จับตา "พายุไต้ฝุ่น" ทะลุเข้าไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ ณ วันที่ 21 เมษายน อยู่ที่ 21,142 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1,833 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำใช้การช่วงเดียวกันของปี 2567 อยู่ที่ 19,310 ล้าน ลบ.ม.) มีเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคใต้เท่านั้น ที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในขณะนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา -611 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2,582 ล้าน ลบ.ม.ในปีนี้ ขณะที่ปี 2567 อยู่ที่ 3,195 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้ของภาคใต้ขณะนี้ “น้อยกว่า” ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา -33 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2568 อยู่ที่ 3,892 ล้าน ลบ.ม. ปี 2567 อยู่ที่ 3,925 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้ของภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศอยู่ที่ 484 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 400 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่ลุ่ม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้ ซึ่งมี 4 เขื่อนหลักของประเทศ (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) บริหารจัดการน้ำอยู่ ปรากฏทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 21 เมษายนอยู่ที่ 7,443 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 (ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,058 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28) โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การได้สูงสุด 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล 3,840 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 กับเขื่อนสิริกิติ์ 2,955 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44

เตรียมตัวรับมือลานีญา :
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ในฐานะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญแหล่งน้ำ ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในประเทศหลังเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งว่า จากการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เชื่อว่าจะสามารถประคับประคองการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม จนผ่านเข้าสู่ช่วงฤดูฝนได้
โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) หรือฝนมากน้ำมาก จะเกิดขึ้นในช่วงไหนของปีนี้ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ประเทศไทยพึ่งผ่านพ้น ปรากฏการณ์เอลนีโญ (Ei Nino) หรือฝนน้อยน้ำน้อย ในฤดูแล้งปี 2567
ทั้งนี้ จากแบบจำลองล่าสุดขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) หรือ IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model Outlook ณ วันที่ 14 เมษายน 2568 ชี้ว่า สภาพภูมิอากาศปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง หรือ ENSO-neutral หรือเป็นปีภูมิอากาศปกติ มีโอกาส “มากกว่า” ร้อยละ 50 ที่สภาพภูมิอากาศปกตินี้จะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม โดยอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตร-ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก มีค่าใกล้เคียงในทางต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีปกติ ส่วนในด้านตะวันออกมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย
ภาวะค่าเฉลี่ยตามแบบจำลองนี้สามารถอธิบายได้ว่า โอกาสที่สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฝนมากน้ำมาก หรือ “ลานีญา” อาจจะต้องเป็นช่วงหลังเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ดังนั้นในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม ก็จะเกิดฝนตกภายในประเทศตามปีปกติ (สภาพเป็นกลาง-ENSO-neutral) ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศเพื่อประคับประคองสถานการณ์น้ำให้ผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งไปให้ได้
“กรณีที่ลานีญาอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี หรือหลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ภาคใต้ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากฝนมากน้ำมาก เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ ขณะที่ภาคอีสานก็จะเกิดฝนตกตามปกติ ไม่มีฝนมากน้ำมากจากปรากฏการณ์ลานีญาเข้ามาเติมให้ จากเดิมที่ NOAA เคยคาดการณ์กันไว้ว่า ลานีญาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากติดตามสภาพน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูแล้งนี้ คาดการณ์จะประสบปัญหาภัยแล้งในบริเวณอีสานตอนใต้ แถบจังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์ และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจะเป็นที่บริเวณโคราช ที่อ่างเก็บน้ำหลัก ๆ มีปริมาณน้ำน้อยมาก” นายชวลิตกล่าว
อีสานใต้เกิดภัยแล้ง :
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยอ่างเก็บน้ำหลักขนาดใหญ่ 12 แห่ง กับขนาดกลางอีก 226 แห่ง ปัจจุบันเหลือน้ำใช้การได้ 2,585 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ที่ -611 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะที่บริเวณอีสานใต้เกิดวิกฤตน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ลดลงต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ปัจจุบันเหลือน้ำใช้การได้แค่ 30 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น
ในขณะที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนบริเวณใกล้เคียงอย่าง เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำใช้การได้เหลือ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29%, เขื่อนลำแชะ 103 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30%, เขื่อนมูลบน 97 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% และเขื่อนสิรินธร 213 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19%
“ตอนนี้ที่นครราชสีมาเกิดการขาดแคลนน้ำขึ้น จนการประปาส่วนภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผันน้ำจากเขื่อนลำแชะ-เขื่อนมูลบน ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ผ่านทางลำน้ำมูลเป็นระยะทางกว่า 140 กม. เข้ามาช่วยโคราชให้ผ่านพ้นฤดูแล้งนี้ไปให้ได้ ส่วนความหวังที่ว่าลานีญาจะทำให้เกิดฝนตกเร็วขึ้นมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนนั้นก็คงต้องเลื่อนออกไป เพราะแบบจำลองล่าสุดเชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลังเดือนสิงหาคม
แต่เชื่อว่ากรมชลประทานจะสามารถบริหารจัดการในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ ส่วนภาคตะวันออกยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มาก ยกเว้น อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อย เหลือแค่ 20 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นอ่างขนาดเล็ก ส่วนอ่างขนาดใหญ่อย่าง หนองปลาไหล มีปริมาณน้ำใช้การได้ถึง 107 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71%, บางพระ 55 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ดังนั้นในฤดูแล้งนี้ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม”
ระวังพายุพัดทะลุเข้าไทย :
อย่างไรก็ตาม การเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคมครอบคลุมไปจนถึงปลายปี 2568 จะมีผลต่อปริมาณพายุที่จะพัดผ่านประเทศไทยหรือไม่ ในเรื่องนี้ นายชวลิตกล่าวว่า จำนวนพายุไต้ฝุ่นที่จะเกิดขึ้นแถบทะเลแปซิฟิก-ประเทศฟิลิปปินส์ ยังเหมือนเดิมหรือประมาณ 30 ลูกต่อปี แต่ปรากฏการณ์ลานีญาจะทำให้ “โอกาส” ที่พายุจะพัดเข้าถึงบริเวณประเทศไทยมากขึ้น จากปี 2567 ที่อยู่ในช่วงของเอลนีโญพายุส่วนมากจะพัดเข้าสู่บริเวณเกาะไหหลำ-จีนตอนใต้-เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หรืออย่างมากก็จะเข้าสู่บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนาม-สปป.ลาว แล้วก็อ่อนกำลังลงไป
“ลานีญาจะทำให้เกิดโอกาสที่พายุจะพัดทะลุเข้ามาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคตะวันออกมากขึ้น ถ้าเกิดในช่วงเดือนมิถุนายน ที่พายุจะทะลุเข้ามาถึงเป็นเพราะเกิดลมแรง กล่าวคือ ลานีญาทำให้ลมที่เส้นศูนย์สูตร หรือเหนือเส้นศูนย์สูตร พัดแรงขึ้นกว่าปกติ ลมจะวิ่งจากทะเลแปซิฟิกเข้าประเทศฟิลิปปินส์มาถึงเวียดนาม-กัมพูชา”
“ดังนั้น โอกาสที่พายุจะเข้ามาถึงไทยก็มากขึ้น ส่วนความแรงของพายุยังเป็นปกติ ลานีญาไม่ได้ทำให้ความแรงหรือจำนวนพายุเพิ่มขึ้น แต่มีโอกาสที่พายุจะเข้าสู่บริเวณประเทศไทยตรง ๆ มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเราต้องติดตามการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาอย่างใกล้ชิด ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนไหนแน่ เพราะจะมีผลต่อสภาพภูมิอากาศ-สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปีนี้โดยตรง” นายชวลิตกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 เมษายน 2568