ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-หอการค้า เม.ย. 68 หดตัวต่อเนื่องเหตุภาษีทรัมป์พ่นพิษ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2568 ระดับ 55.4 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดทุกภูมิภาค เหตุปัจจัยล้วนมาจากกังวลผลกระทบภาษีทรัมป์ 2.0 ที่ส่งผลกระทบทั้งภาคเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยมีการปรับลดลงต่อเนื่อง จากความกังวล ที่สหรัฐเริ่มประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะสินค้าหลักมีการปรับลดลง เช่นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย มีผลต่อการสะพัดของเม็ดเงินที่ลดลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมรายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีถึง 60% ของประเทศ ก็ให้ความกังวลและความไม่แน่นอน ต่อเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะกรณีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาล กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปัญหาการเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการเมืองไทย ออกมาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้จะยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบรุนแรง
นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะต้องเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมกับทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะทั้งนี้ ก็มีความกังวลความมีเสถียรภาพของรัฐบาล หากมีการยุบสภาจะมีผลต่อการเบิกจ่ายชะลอไป 3-6 เดือน โดยเหตุนี้จะทำให้เกิดการรักษาการของรัฐบาล จะทำให้ไม่เกิดการเจรจาต่อรองการค้า หรือมาตรการกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ดังนั้น ถือว่าเรื่องการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นขาลงต่อเนื่อง
“ยังไม่สนับสนุนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แต่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้เกิดกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ อย่างน้อยจากการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% (Universal Tariff) นั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.8-2.2% (ค่ากลาง 2%) อย่างไรก็ดี จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในเดือน มิ.ย. 68 ส่วนการเศรษฐกิจโลก และจากที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะย่อตัวลงอย่างน้อย 0.5% จากที่เคยโต 3% อาจจะเหลือแค่ 2.5% เป็นอย่างน้อย
ดัชนีความเชื่อมั่น ระดับ 55.4 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน :
นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 55.4 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ยังปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 49.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 53.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.9
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’68 ลงเหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3% สาเหตุหลักจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และกังวลปัญหาภัยแล้ง
ขณะที่ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ครม.เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% การส่งออกไทยเดือน มี.ค. 68 มีมูลค่าสูงถึง 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.84% และเกินดุลการค้า 972 ล้านดอลลาร์
ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
นายวชิร คูณทวีเทพ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเมษายน 2568 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศจำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย. 68 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.3 ลดลงจากระดับ 48.9 ในเดือนมี.ค. 68 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเกือบทุกภูมิภาค มีสัญญาณการปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโดยรวม, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การเกษตร, การค้าในจังหวัด, การค้าชายแดน และการจ้างงาน โดยมีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ยังปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากอานิสงส์ของการส่งออกที่ยังขยายตัว จากคำสั่งซื้อที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง
ส่วนการลงทุนนั้น ยังไม่มีสัญญาณขยายการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่าภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการท่องเที่ยว แม้เดือนเมษายนเป็นเทศกาลสงกรานต์ แต่หลายจังหวัดตอบว่าการท่องเที่ยวไม่ได้คึกคักเท่าที่คาดหวังไว้ จะคึกคักเพียงจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ส่วนเมืองรองค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนการบริโภคมีสัญญาณคึกคักเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เดือน เม.ย. 68 เป็นดังนี้ :
กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.5
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 51.7 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 52.2
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 47.9
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.1 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 47.7
ปัจจัยลบสำคัญที่กระทบ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’68 เหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3.0% ผลจากแรงกดดันด้านการค้าโลก การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ ความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งกระทบกับยอดขายของธุรกิจ เป็นต้น
ปัจจัยบวกที่กระทบ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 68 ขยายตัวสูงถึง 17.84% เข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ ทำให้อุปสงค์สินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารสด อาหารแปรรูป และผลไม้ ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปถึงภาครัฐ เช่น มาตรการทางการเงินที่ช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ช่วยดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย การบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรให้เพียงพอ และเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น การพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มในการผลิตสินค้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568