เศรษฐกิจซึม-ความเสี่ยงรอบทิศ SMEs ไทยจะไปรอดอย่างไร?
ห้วงเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศไทยที่จะต้องฝ่าไป ทั้งเรื่องกำลังซื้อที่หดตัว จนถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ ตั้งแต่กำแพงภาษี ภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนากำลังคน
และในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ท้าทายเช่นนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs กว่า 3.2 ล้านราย ที่ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย ก็เผชิญกับความท้าทายเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต่างต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในแง่มุมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ยังคงเดินต่อได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อมองภาพรวม SMEs ไทยวันนี้ ปัญหา-อุปสรรคที่พวกเขากำลังเผชิญ และข้อเสนอถึงภาครัฐ ในการช่วยเหลือ SMEs จากปัญหาเศรษฐกิจ
SMEs ไทยต้อง “อึด สู้ อย่างมีชั้นเชิง” :
แสงชัยสะท้อนว่า คำว่า “อึด สู้ อย่างมีชั้นเชิง” คือ Keyword ที่สะท้อนสถานการณ์ SMEs ไทยในปัจจุบันได้ดีที่สุด เพราะวันนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสโลกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องเผชิญหน้ากับมัน และมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น
คำว่า “อึด สู้ อย่างมีชั้นเชิง” สะท้อนความจริงที่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความอดทน และที่สำคัญคือต้องสู้ด้วยกลยุทธ์ และยุทธศาสตร์ ที่ชาญฉลาด เพื่อฝ่าฟันกำแพงภาษี และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่
รวมถึงการรับมือกับ “สงครามเศรษฐกิจสีเขียว” ที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ ESG และอาจนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
SMEs ต้องเตรียม “หน้าตัก” ของตัวเองให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นทุน ความรู้ หรือทรัพยากร เพื่อใช้ในการต่อสู้ในสมรภูมิเศรษฐกิจครั้งนี้ เป้าหมายไม่ใช่แค่การอยู่รอด แต่คือการฝ่าวิกฤตไปอย่างแข็งแรง และยั่งยืน

GDP ไทย โตต่ำ-SMEs ภาคเกษตร น่าห่วงสุด :
แสงชัยเล่าว่า ช่วงที่ผ่านมา GDP ประเทศไทย ขยายตัวต่ำกว่า 3% มาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562-2567 ส่วนปี 2568 มีการคาดการณว่าจะเติบโตในระดับ 1.8% แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2568 จะเติบโตถึง 3.1% จากการเร่งการส่งออก โดยตัวเลข 1.8% นั้น ใกล้เคียงกับ GDP เมื่อปี 2564 ที่อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเติบโตในระดับ 1.6% และปี 2568 เป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องกระโดดฝ่ากำแพงภาษี เพื่อให้พ้นวิกฤตนี้
ขณะเดียวกัน สถานการณ์เรื่องกำแพงภาษี ก็ทำให้เป็นที่กังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกและการชำระหนี้คืนของผู้ประกอบการภาคการส่งออก ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
แสงชัยขยายภาพต่อไปว่า ภาคธุรกิจ SMEs ไทย ข้อมูลปี 2567 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า GDP ในภาค SMEs ของประเทศไทย อยู่ที่ 6.48 ล้านล้านบาท จากมูลค่า GDP ประเทศไทยทั้งหมด 18.5 ล้านล้านบาท หรือ 35% จากมูลค่า GDP ทั้งประเทศ โดยปีที่ผ่านมาขยายตัว 3.1% แต่ยังอยู่ในระดับที่ขยายตัวยังไม่ดี โดยตัวเลขที่ถือว่าขยายตัวดี จะต้องไม่ต่ำกว่า 5% สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ทั้งประเทศ
ในภาพรวม ภาคการบริการ ถือว่ามีสัดส่วน GDP ใหญ่ที่สุด คิดเป็นราว 40% ของ GDP SMEs ประเทศไทย และเมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละส่วน พบว่าในแต่ละภาคมีการเติบโต ดังนี้
ภาคการค้า :
มูลค่า 1.366 ล้านล้านบาท เติบโต 4.6%
ภาคก่อสร้าง :
มูลค่า 2.66 แสนล้านบาท เติบโต 4.5%
ภาคการบริการ :
มูลค่า 2.618 ล้านล้านบาท เติบโต 3.9%
ภาคการผลิต :
มูลค่า 2.08 ล้านล้านบาท เติบโต 0.8%
ภาคการเกษตร :
มูลค่า 2.93 หมื่นล้านบาท หดตัว 0.3%
นอกจากนี้ ในแง่ของการจ้างงาน จากการสำรวจพบว่า มีความต้องการแรงงานใหม่เพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 98.6% ยังไม่มีความต้องการเปิดรับแรงงานใหม่ ในส่วนนี้ อาจต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)


ภาคส่งออก ยังลุ้นมาตรการภาษี :
ภาคการส่งออก ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสหรัฐมีการตั้งกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าแบบที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้น และแม้จะมีการเจรจาเพื่อลดกำแพงภาษีระหว่างกัน และสัญญาณเชิงบวกในบางประเทศ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
ในภาพรวมปี 2567 ประเทศไทยมีการส่งออกไปต่างประเทศ ประมาณ 300,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณ 306,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาคธุรกิจ SMEs มีการส่งออกประมาณ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 13% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และมีการนำเข้า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14% ของปริมาณทั้งหมด
หากเจาะลงไปในสถานการณ์รายประเทศคู่ค้า แสงชัยสะท้อนข้อมูล 2 ประเทศคู่ค้า คือ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถือเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย
สำหรับสหรัฐอเมริกา ถือเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญ โดยภาพรวมมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 18% จากการส่งออกทั้งหมด และมีการนำเข้า 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 6% จากการนำเข้าทั้งหมด
เฉพาะธุรกิจ SMEs มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 20% ของการส่งออก SMEs และมีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 6% ของการนำเข้า SMEs ซึ่งประเทศไทยได้ดุลการค้าในส่วนนี้
ส่วนประเทศจีน โดยภาพรวมมีการส่งออกไปจีน 35,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด และประเทศไทยนำเข้าจากจีนสูงถึง 80,600 ล้านเหรียญ คิดเป็น 26% ของการนำเข้าทั้งหมด มากกว่าการนำเข้าจากสหรัฐ
เฉพาะภาคธุรกิจ SMEs มีการส่งออกไปจีนประมาณ 8,100 ล้านเหรียญ คิดเป็น 21% ของการส่งออก SMEs และมีการนำเข้าจากจีนสูงถึง 20,100 ล้านเหรียญ คิดเป็น 47% ของนำเข้า SMEs รวม ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนในกลุ่ม SMEs
แรงกดัดนภาษี อาจฉุด GDP ซ้ำ :
แสงชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติม จากผลการสำรวจล่าสุดของ สสว. พบว่า เอสเอ็มอีไทยที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออกเกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 10% ของรายได้ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ พบว่ามี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่
1)อุปกรณ์ไฟฟ้า
2)อัญมณี-เครื่องประดับ
3)เครื่องจักรและส่วนประกอบ
4)เฟอร์นิเจอร์
5)เหล็ก
6)อะลูมิเนียม
7)ยานยนต์และชิ้นส่วน
8)ของปรุงแต่งทำจากพืชผักผลไม้
9)ผลิตภัณฑ์จากยาง
10)เนื้อสัตว์แปรรูป
11)ธัญพืช
12)แฟชั่นและเครื่องแต่งกาย

โดยรวมแล้ว SMEs กว่า 3,700 ราย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งประเมินว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีหดตัวลงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสถานการณ์กำแพงภาษียังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น และผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว ยังอาจฉุดให้ GDP ของภาค SMEs หดตัวลงประมาณ 38,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
“แหล่งทุน” ปัญหาใหญ่ SMEs ไทย :
แสงชัยสะท้อนภาพปัญหาที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย กำลังเผชิญ มีตั้งแต่กำลังซื้อที่ลดลง กระทบกลับมาถึงรายได้ของธุรกิจ ต้นทุนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การยกระดับมาตรฐาน คุณภาพสินค้า ขีดความสามารถในการแข่งขัน การปรับตัวในด้านเทคโนโลยี จนถึงปัญหาทุนเทา เศรษฐกิจนอกระบบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
อีกหนึ่งปัญหาที่น่าสนใจ และเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเผชิญ คือ ปัญหาหนี้และการเข้าถึงแหล่งทุน โดยข้อมูลการสำรวจจาก สสว. เมื่อไตรมาส 1/2568 ระบุว่า 88.5% มีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 1/68 หดตัว -1.3%

สาเหตุสำคัญที่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงสินเชื่อ คือ คุณสมบัติไม่ผ่าน มากถึง 52.7% รองลงมาคือ ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 29.7% ขาดหลักฐานด้านรายได้และงบแสดงการเงิน 15.6% และประวัติการชำระเงินไม่ดี 2.0%
อีกทั้งยังมีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการสามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ 64.5% สามารถจ่ายหนี้ได้แต่ผิดเงื่อนไข 31.4% และไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 4.1% และมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 31.3% เจออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อในอัตราสูงกว่า 15%
นอกจากนี้ ข้อมูลของ สสว. ในไตรมาส 1/2568 พบว่าแหล่งทุนที่ SMEs เข้าถึง มีดังนี้
-ในระบบสถาบันการเงิน : 22.8%
-ทั้งในและนอกระบบสถาบันการเงิน : 45.4%
-นอกระบบสถาบันการเงิน : 31.8%
ความน่าสนใจ คือ กลุ่มที่กู้เงินแบบไฮบริด หรือกู้เงินทั้งในระบบสถาบันการเงิน และกู้เงินผ่านนายทุนต่าง ๆ นอกระบบสถาบันการเงิน จากเดิมที่อยู่ในอัตรา 20.8% เมื่อไตรมาส 4/2566 พุ่งสูงขึ้นถึง 45.4% เมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนี้ มักเผชิญปัญหาที่ไม่สามารถกู้เงินในระบบเพิ่มได้แล้ว จึงต้องหันมาพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบควบคู่กันด้วย เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และตัวเลขของกลุ่มนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตราย
แสงชัยแชร์ความเห็นว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจ SMEs ต้องการจากภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหานี้ คือ แนวนโยบาย “คุณสู้ เราช่วย” แก้ปัญหา-ปรับโครงสร้างหนี้ และการรีไฟแนนซ์ เพื่อดึงเงินกู้ที่อยู่นอกระบบ ให้กลับเข้ามาเป็นสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน และลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ จากดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราสูงเกินควร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
หนึ่งในกลไกที่แสงชัยยกตัวอย่าง คือการให้บริษัท มีที่ มีเงิน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารออมสิน เข้ามาให้สินเชื่อแก้ผู้ประกอบการที่กู้นอกระบบ และมีหลักประกัน ซึ่งยังผ่อนชำระได้ เพื่อดึงกลับเข้าสู่ระบบ และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง
นอกจากการแก้ปัญหาหนี้แล้ว ในแง่ของการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แสงชัยมองว่า เป็นกลไกที่ดี แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย มุ้งเป้าที่การค้ำประกันสินเชื่อของสถาบันการเงินรัฐเป็นหลัก เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ
แสงชัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญ ต้องปรับโครงสร้างของหนี้และการเพิ่มโอกาสการพัฒนาผู้ประกอบการและแรงงานอย่างเป็นระบบ
6 สงคราม SMEs ไทย ต้องฝ่า :
นอกจากปัญหาที่ SMEs ไทยต้องเผชิญแล้ว แสงชัยเล่าว่า ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับ “6 สงครามทางเศรษฐกิจ” ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ใช้มาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ส่งผลให้การส่งออกและต้นทุนการผลิตของ SMEs ได้รับผลกระทบโดยตรง
สงครามภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส ไปจนถึงอินเดีย-ปากีสถาน และสถานการณ์ในเมียนมา ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
สงครามพลังงาน โครงสร้างพลังงานของไทยยังพึ่งพาฟอสซิลถึง 75% ขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนน้อย รัฐยังไม่มีการปฏิรูประบบไฟฟ้าที่ชัดเจน แม้จะเริ่มเปิดให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแล้ว แต่ยังขาดการส่งเสริม Solar Farm ชุมชนที่สามารถลดต้นทุนพลังงานให้ผู้ประกอบการ
สงครามเทคโนโลยีและ AI ที่ SMEs ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ AI และดิจิทัล ซึ่งต้องการการพัฒนาทักษะตั้งแต่ระบบการศึกษาไปจนถึงแรงงาน รวมถึงต้องเร่งสร้างความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน


สงครามสุขภาพและสังคมสูงวัย จากผลกระทบระยะยาวของโควิด ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของประชาชนถดถอย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของประชากร จำเป็นต้องวางแผนเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย
และสงครามการพัฒนากำลังคน พัฒนาธุรกิจ SMEs ให้มีเทคโนโลยี นวัตกรรมขับเคลื่อน เพื่อเติบโตสู่ระดับต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศจีน ที่กำลังพัฒนา SMEs ด้วยยุทธศาสตร์ “SMEs ยักษ์น้อย” สร้างฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่โกลบอลซัพพลายเชนใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ AI, EV และพลังงานสะอาด ซึ่งไทยก็ต้องเร่งปรับตัวในมิติเดียวกัน
6 มิติการปรับตัว ยุคเศรษฐกิจเปลี่ยน :
แสงชัยเล่าต่อไปว่า ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ทั้งปัญหาหนี้สะสม สงครามการค้า และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำเป็นต้องปรับตัวใน 6 มิติหลัก
(1)Lean & Risk Management : ลดต้นทุนอย่างเป็นระบบ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก พร้อมจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเชิงรุกในทุกมิติ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และลดผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต
(2)Upskill & Reskill : ผู้ประกอบการและแรงงานต้องเร่งพัฒนาและปรับทักษะ ผ่านการ Upskill และ Reskill โดยอาศัยเครื่องมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือใช้กลไกภายในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น
(3)Quality & Innovation : SMEs ต้องยกระดับคุณภาพในทุกด้าน ตั้งแต่ มาตรฐาน (Quality Standard), ผลิตภาพ (Productivity), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) จนถึงการนำ เทคโนโลยี, AI และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการผลิต การบริหาร และการตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแตกต่าง
(4)SEP Citizenship : การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจในระยะยาว ส่งเสริมให้ SMEs มีจริยธรรมทางธุรกิจ มุ่งเน้นความยั่งยืน ไม่ประมาท และรู้จักประมาณตน เป็นแนวทางที่หลายองค์กรเริ่มนำมาใช้ในการวางแผนและดำเนินกิจการ
(5)Branding & Marketing : SMEs ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ การสร้างแบรนด์ (Branding) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า บริการ และตัวองค์กรเอง พร้อมทั้งขยายตลาดจาก Local สู่ Global ผ่านแนวคิด “Glocalization” ที่ใช้จุดแข็งท้องถิ่นในการเข้าถึงตลาดโลกอย่างสร้างสรรค์
(6)Networking & Handicap : SMEs ควรรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Cluster/Ecosystem) เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง เข้าถึงข้อมูล ทุน และนโยบายภาครัฐได้ง่ายขึ้น พร้อมสร้าง “แต้มต่อ” (Handicap) ในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การเข้าร่วมโครงการรัฐ สนับสนุนด้านการเงิน ภาษี หรือเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตอย่างมั่นคง
วางยุทธศาสตร์ ทลาย 5 กับดักเศรษฐกิจ :
แสงชัยระบุว่า สิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs สามารถผ่านภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องร่วมสร้างยุทธศาสตร์ เพื่อคลาย 5 กับดักเหล่านี้
กับดักหนี้ สร้างกลไกที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดหนี้ที่มีคุณภาพ ยกระดับคุณภาพหนี้ เพิ่มการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งในกลุ่มเกษตรกร ข้าราชการ และผู้กู้กองทุน กยศ. ที่หลายคนกำลังประสบปัญหาไร้รายได้หลังเรียนจบ
กับดักคน พัฒนากำลังคน เพิ่มทักษะ คุณภาพ เพื่อให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีประโยชน์ ภาครัฐควรลงทุนกับการอัพสกิลและรีสกิลแรงงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มคะแนนตัวชี้วัดระหว่างประเทศ เช่น HDI, Global Competitiveness Index หรือ WIPO Index
กับดักทุน สร้างกลไกเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนพลังงาน ค่าครองชีพ ต้นทุนทางการเงิน ภาระดอกเบี้ย และเพิ่มโอกาส ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยลดต้นทุนเหล่านี้ในเชิงโครงสร้าง
กับดักเทา จัดระเบียบเศรษฐกิจนอกระบบและจัดการทุนเทา รวมถึงการสร้างกลไก กำกับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ
กับดักรัฐ ปรับกลไกราชการที่ล่าช้า ซับซ้อน และขาดความโปร่งใส สร้างกลไกในภาครัฐที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน มีเทคโนโลยีช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างมีธรรมาภิบาล
และการคลายทั้ง 5 กับดักนี้ แสงชัยคาดหวังว่า จะนำไปสู่ยุทธศาสตร์ เพื่อประเทศไทยก้าวข้ามกับดักความยากจนข้ามรุ่น กับดักรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป
ศึกวันนี้ ต้องสู้ด้วย “ปัญญา” ซ
แสงชัยสะท้อนสิ่งที่อยากฝากถึงพี่น้องผู้ประกอบการ SMEs ทุกคนว่า ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการ SMEs ต้อง “กล้าเปลี่ยน” และพร้อมรับมือกับความเสี่ยง การปรับตัวคือสิ่งจำเป็น ทั้งในแง่การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างชาญฉลาด และการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจที่สามารถเข้าถึงกลไกสนับสนุนจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน

หากขาดความพร้อมในการปรับตัว SMEs อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งกับผู้เล่นรายใหญ่ และคู่แข่งจากต่างประเทศ ดังนั้น การบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และการเตรียมพร้อมเชิงกลยุทธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
วันนี้ ศึกของผู้ประกอบการไม่ใช่สงครามที่ใช้ “กระสุน” แต่เป็นสงครามที่ใช้ “ปัญญา” เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มี ทั้งความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าในการตัดสินใจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
นี่ไม่ใช่แค่การเอาตัวรอด แต่คือการร่วมกันผลักดันให้ SMEs ไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568