ภาษีสหรัฐฯ ฉุดส่งออกทรุด 2 ล้านล้าน หวังไทยปิดดีล 20% เท่าเวียดนาม
สภาผู้ส่งออก (สรท.) ชี้ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36% สูงเกินคาด กระทบส่งออกไทย 2 ล้านล้านบาท เสี่ยงเลิกจ้างแรงงาน-รายได้เกษตรกรหด วอนรัฐบาลเร่งปิดดีลก่อน 1 ส.ค. เปรียบเวียดนามได้เรท 20% แข่งขันได้ดีกว่าไทย
วันนี้ (9 กรกฎาคม 2568) นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า กรณีที่สหรัฐมีการระบุการเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของไทยที่ 36% ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะทำให้ต้นทุนส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ และจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งมากที่สุด ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสำเร็จรูป ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น เป็นต้น ซึ่งหลายอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานเข้มข้นที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก
ทั้งนี้จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อราคาผลผลิตภายในประเทศและกระทบต่อรายได้เกษตรกรและครัวเรือนไทยจำนวนมากในที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ปัญหาจะขยายวงกว้างออกไป ทั้งภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศจะลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีต่อจากนี้ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศเกิดภาวะชะงักงัน และไม่สามารถแข่งขันทางการค้ากับคู่แข่งสำคัญได้อีกในระยะยาว
"หากประเทศไม่สามารถปิดดีลได้ และโดนสหรัฐเก็บภาษีนำเข้า 36% ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน จะมีการเทคออเดอร์ไปที่ประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถในการผลิต ซึ่งไทยจะกระทบทันที และจะส่งกระทบต่อมาการจ้างงาน ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนว่าแรงงานที่มีอยู่ปัจจุบันจากยอดออเดอร์ที่หดตัวลง"
ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่รับบัตรส่งเสริมการลงทุนหรือมีความตั้งใจจะมาลงทุนในประเทศไทยเห็นว่าประเทศไทยแข่งขันไม่ได้
เนื่องจากว่าเรทอัตราสูงกว่าผู้แข่งขันประเทศคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนต้องทบทวนหมด คือมันเป็นเชิงการค้าในเชิงธุรกิจจริงจริงว่า ถ้าเขาได้กระทบ เดือดร้อนถึงระดับ 16% ระหว่างไทยกับเวียดนามเมื่อเทียบกัน
นายธนากร กล่าวย้ำว่า ไทยต้องปิดดีลให้ได้ในรอบที่ 2 เพราะว่าค่อนข้างจะเป็นระยะเวลาใกล้กับช่วงเดตไลน์ คือ วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ซึ่งในจดหมายที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งมามีการระบุชัดเจนว่าเขาจะไม่มีการขยับวันที่ ฉะนั้นจําเป็นอย่างยิ่งที่ทางทีมเจรจาของฝ่ายรัฐบาลไทยต้องเร่งปิดดีลให้จบ
"ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นเป็นโดมิโน่ ขอให้ทีมเจรจาช่วยพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วก็ทําให้เรื่องนี้จบให้ได้ เรายอมรับว่าเวียดนามเป็นโมเดลที่เห็นชัดว่าได้เรทนี้จบไปเรียบร้อยแล้วที่ 20% เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเรทที่เหมาะสมและประเทศไทยสมควรจะได้รับก็คือ 20% เช่นเดียวกัน เราจึงสามารถแข่งขันไปด้วยกันได้"
อย่างไรก็ตามทาง สรท. ได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการ 3 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1)ข้อเสนอสำหรับการเจรจาลดอัตราภาษีกับสหรัฐอเมริกา
* สนับสนุนการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็น 0% ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่ไทยสามารถยอมรับได้
* ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการลงทุนทางตรง (FDI) จากสหรัฐอเมริกา
* เร่งจัดซื้อสินค้ากลุ่มพลังงานจากสหรัฐอเมริกา ให้มากขึ้นแทนการซื้อจากแหล่งอื่น
(2)ข้อเสนอสำหรับการหาตลาดศักยภาพอื่นทดแทน
* สนับสนุนงบประมาณในปี 2569-2570 สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในต่างประเทศ อาทิ การพาผู้ประกอบการไปเข้าร่วมออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการจัดกิจกรรม Business Matching และในประเทศ อาทิ กิจกรรม Incoming Mission ให้มากขึ้นและต่อเนื่อง
* เพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive ให้ผู้ประกอบการส่งออก SMEs สามารถบุกตลาดอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะในงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐไม่สามารถพาผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วม
* ร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับจัดหาวงเงินหมุนเวียนและสนับสนุนค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงทางการค้าในการบุกตลาดใหม่
* เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีทุกกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงเพิ่มเติมการเจรจากับคู่ค้าสำคัญอื่นเพิ่มเติม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
(3)ข้อเสนออื่นเพิ่มเติม ทั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก และเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศจากการนำเข้าสินค้าแหล่งอื่น
3.1 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พิจารณาเงื่อนไขการปรับลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
* เร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนและบรรเทาภาระหนี้จากการประกอบธุรกิจ และ ดำเนินมาตรการกำกับดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เป็นต้น
* พิจารณาชะลอการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำและปรับลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ อาทิ ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อการส่งออก
* พิจารณานำต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า อาทิ ค่าระวาง ค่าประกันภัยการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม หักภาษีได้ 200% จากที่จ่ายจริง
* เร่งรัดกระบวนการคืนภาษีธุรกิจ อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า เป็นต้น รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการขออนุญาตและการดำเนินการในขั้นตอนการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งพัฒนาระบบ Digitalization ตลอดกระบวนการส่งออกนำเข้าให้มีความสมบูรณ์
3.2 เพิ่มความเข้มงวดมาตรการปรามการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ และสินค้าสวมสิทธิ์
* เริ่มบังคับใช้กฎ 24 Hours Rule เพื่อให้สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนบรรทุกสินค้าลงเรือ ณ ท่าเรือต้นทาง
* ตรวจสอบสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผ่านเขตปลอดอากร 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และเพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทางแล้วตกค้างในประเทศไทย
* เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าและคัดกรองสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ โดยสินค้านำเข้าและโรงงานผู้ผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทยก่อนบรรทุกลงเรือมายังประเทศไทย
* ผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่ขายสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce Platform ต้องระบุตัวตนและตรวจสอบโดย Platform ให้ชัดเจน และไม่มีร้านค้าที่ขายสินค้ารายการเดียวกันซ้ำซ้อนกัน เป็นต้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2568