แนวทางการนำเสนอ Soft Power ของไทยผ่านอุตสาหกรรมแฟชั่นในเดนมาร์ก
ประเทศเดนมาร์กมีการจัดงาน Copenhagen Fashion Week (CPHFW) ซึ่งเริ่มจัดขึ้นโดย Danish Fashion Institute ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เป็นประจำทุกปี จัดปีละสองครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (Winter collection) และสิงหาคม (Summer collection) เป็นงานสัปดาห์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,600 คน และมีการนำเสนอผลงานแฟชั่นมากกว่า 2,800 คอลเลคชั่นจากการเดินแบบกว่า 40-45 รันเวย์
กลยุทธ์หลักของงาน CPHFW คือ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในอุตสาหกรรมแฟชั่นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กรุงโคเปนเฮเกนเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นในสแกนดิเนเวีย การสร้างงานสัปดาห์แฟชั่นชั้นนำที่แข็งแกร่งสำหรับแบรนด์แฟชั่นที่จะเติบโตในสแกนดิเนเวียและการมุ่งเน้นที่ความยั่งยืน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดงานเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
จุดเด่นของงาน CPHFW คือ แบรนด์ที่เข้าร่วมทั้งหมดจะเป็น local brand เช่น Stand, Baum und Pferdgarten, Ganni, Stine Goya เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ ทำให้เป็นการส่งเสริมธุรกิจของประชาชนในประเทศ ทำให้รับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และส่งเสริมการกระจายรายได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้คนสนใจงานสัปดาห์แฟชั่นกรุงโคเปนเฮเกน คือ เป็นแฟชั่นที่เข้าถึงง่าย มีสีสันสดใสสามารถสวมใส่ได้จริงอย่างสะดวกสบายในหลายโอกาสและทุกสถานที่ตามแนวคิด “Hygge” (สบาย และอบอุ่น) ในวัฒนธรรมเดนมาร์ก นอกจากนี้ CPHFW ยังเน้นการทำงานร่วมกับ Danish Design Society และ Danish Design Centre เพื่อให้งานแสดงแฟชั่นมีนวัตกรรมและความยั่งยืนอีกด้วย
Crown Princess Mary แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นผู้นำทางด้านการส่งเสริมการใช้และการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอย่างยั่งยืน โดยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของ Global Fashion Agenda และการประชุม Copenhagen Fashion Summit ในการสร้างความเป็นกลางของคาร์บอนในอุตสาหกรรมแฟชั่น และทรงเป็นผู้นำในเรื่องการหมุนเวียนการแต่งฉลองพระองค์ชุดเดิมอย่างไม่ให้ซ้ำในการปรากฏพระวรกายในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เดนมาร์กมีแบรนด์ Georg Jensen ที่มีชื่อเสียงในยุโรปมายาวนานกว่า 118 ปี ในฐานะผู้ผลิตเครื่องเงิน เครื่องประดับ ภาชนะและของตกแต่งบ้านที่มีรูปลักษณ์เรียบง่ายทันสมัยและเน้นลายประดับที่เป็นลวดลายจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ ชาวเดนมาร์กให้ความสำคัญกับการตกแต่งอาคารบ้านเรือนรวมถึงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์เรียบง่าย ทันสมัย เน้นคุณภาพและประโยชน์ใช้สอย ตลอดจนทำให้อาคารบ้านเรือนน่าอยู่ตามแนวคิด “Hygge” ที่มีความอบอุ่นและผ่อนคลาย ซึ่งสินค้าของแบรนด์ Hay เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงแบรนด์ Fritz Hansen ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอแฟชั่นและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนตรงกับแนวคิดและรสนิยมของตลาดเดนมาร์กได้ก็จะเป็น Soft power ของไทยในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ เช่น (1) การใช้วัสดุหมุนเวียนในการผลิตแฟชั่น (circular fashion) (2) การใช้วัตถุดิบ organics ที่มาจากธรรมชาติ (3) การใช้กระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในเมืองหนาว อาทิ เครื่องแบบพยาบาล ชุดกีฬา กางเกง และอุปกรณ์มวยไทย
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นในเดนมาร์กอาจจะไม่ได้เป็นตลาดขนาดใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรหรือฝรั่งเศส แต่อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มีเสน่ห์และลักษณะเฉพาะตัวตามแบบนอร์ดิกดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งสามารถสร้างโอกาสให้แก่นักออกแบบจากไทยที่มีความสามารถเพื่อต่อยอดได้ในอนาคต (ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน)
ที่มา globthailand
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565