การต่างประเทศไทยปี 65 และความท้าทายปี 66
ปี 2565 ถือเป็นปีที่โลกเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายหลายอย่าง แต่หากมองย้อนไปในปี 2565 แล้วตั้งคำถามว่าอะไรคือความสำเร็จของการต่างประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าเรื่องแรกที่อยู่ในความคิดของใครหลายคนไม่พ้นการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากรัฐบาลไทยในหลายยุคหลายสมัยได้พยายามที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
ที่สุดแล้วการเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม ตามด้วยการแลกเปลี่ยนการเยือนอีกมากมาย เริ่มจากคณะของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่นำคณะผู้แทนภาคเอกชนชุดใหญ่เยือนซาอุฯครั้งแรก ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากฝ่ายซาอุฯอย่างดียิ่ง จากนั้นผู้แทนระดับรัฐมนตรีและภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเดินทางไปมาหาสู่และกระชับความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเพื่อเป็นผู้แทนในระดับสูงสุดของทั้งสองประเทศตามปกติ
ท้ายที่สุดในเดือนพฤศจิกายน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุฯ เสด็จฯเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 32 ปี และยังเป็นแขกพิเศษของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคเพื่อเข้าร่วมหารือกับผู้นำเอเปค โดยมีผู้แทนในระดับรัฐมนตรีและตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี ซึ่งในทั้งหมดนี้เป็นเจ้าชายหลายพระองค์โดยเสด็จฯมาพร้อมกับเจ้าชายมุฮัมมัดถึง 10 คน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ฝ่ายซาอุฯให้กับการเสด็จฯเยือนไทยครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่ยืนยันชัดถึงความสำเร็จของการเสด็จฯเยือนครั้งสำคัญคือพระราชสาส์นของเจ้าชายมุฮัมมัดที่มีการเผยแพร่หลังเสร็จสิ้นการเยือนไทย โดยพระองค์ทรงขอบใจต่อการต้อนรับที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยไมตรีจิต การหารือที่เกิดขึ้นได้ยืนยันถึงความปรารถนาที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างมิตรประเทศทั้งสองและประชาชนในทุกภาคส่วน พร้อมทรงอวยพรให้คนไทยมีความก้าวหน้าและมั่งคั่งรุ่งเรืองต่อไป
นายดอนกล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วการที่เรามีความสัมพันธ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว แต่กับประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีความใกล้ชิด การฟื้นความสัมพันธ์หลังการเยือนซาอุฯของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้เกิดมิตรไมตรีที่ชัดเจนว่า ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสานสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ การเสด็จฯเยือนไทยขององค์มกุฎราชกุมารซาอุฯนำไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง และหลังจากนี้ก็จะมีการพัฒนาสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยภาคส่วนต่างๆ ต่อไป
เป็นภาพสะท้อนถึงความสำเร็จอันเด่นชัดที่ทำให้นับจากนี้ไป ไม่มีประเทศใดที่มองไทยไม่เป็นมิตร แต่เราจะมีแต่เพื่อนในเวทีระหว่างประเทศเท่านั้น
อีกหนึ่งในความสำเร็จด้านการต่างประเทศไทยที่โดดเด่นและจะไม่พูดถึงไม่ได้คือการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา แม้จะเริ่มต้นด้วยการต้องลุ้นระทึกกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 1 ที่พัทยา ซึ่งเดิมตั้งใจว่าจะจัดประชุมแบบเจอตัวตลอดปี ต้องถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นประชุมออนไลน์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปี กระนั้นก็ดีในท้ายที่สุด การประชุมอื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็สามารถจัดประชุมแบบเจอตัวได้ทั้งหมด
โดยเฉพาะในการประชุมสัปดาห์สุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน ที่ปิดด้วยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ซึ่งต้องบอกว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่สารัตถะที่มีการออกเอกสาร ซึ่งเป็นผลการประชุมทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำในนามของเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้งหมดได้เป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากที่ผ่านมาเป็นการออกแถลงการณ์ในนามของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในประเด็นการเมืองที่ลุกลามมาถึงเวทีการหารือระหว่างประเทศอื่นๆ
ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย “เสน่ห์และความละเมียดละไมแบบไทยๆ” ที่มัดใจผู้แทนต่างชาติได้แทบทุกครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศเช่นนี้ แน่นอนว่าเบื้องหลังกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่งานง่าย แต่ที่สุดแล้วการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของไทยก็ผ่านไปได้อย่างงดงาม
ขณะที่ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งเป็นเอกสารที่ไทยได้ผลักดันให้มีการรับรองในที่ประชุมด้วยความหวังว่าจะเป็นการปลูกฝังจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นแผนงานฉบับแรกที่ครอบคลุมการขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืนของเอเปคในระยะยาว ก็กลายเป็นประเด็นที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ต่อจากไทยก็จะผลักดัน เป้าหมายกรุงเทพฯและบีซีจีต่อไปตลอดทั้งปีนี้ ทั้งยังจะมีการแจกรางวัล APEC BCG Award ให้กับบุคคลหรือองค์กรที่นำ BCG ไปทำสำเร็จและสามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นต่อไปได้ โดยจะมีการมอบรางวัลดังกล่าวให้แก่ผู้ชนะเป็นครั้งแรกในปี 2566 ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อไป
ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (ISOM) ที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกที่โฮโนลูลูเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านมา สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคยังแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ที่สามารถทำให้มีฉันทามติในการรับรองเอกสารสำคัญครบทั้ง 3 ฉบับ ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายของภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมือง ขณะที่บางเขตเศรษฐกิจถึงกับชื่นชมว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยนั้นสร้างมาตรฐานสูง
สำหรับความท้าทายด้านการต่างประเทศของไทยในปี 2566 แน่นอนว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือผลกระทบจากสงครามยูเครนที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สั่นสะเทือนโลกตลอดปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ค่าที่ส่งผล
กระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีต่อทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และห่วงโซ่อุปทานมากมาย ตราบใดที่การสู้รบยังไม่ยุติก็ยังคงสร้างผลต่อประชาคมโลกต่อไป แต่หากขยายวงกว้างและลุกลามบานปลาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะมากมายจนสุดประมาณ ตามด้วยความตึงเครียดและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกโดยเฉพาะกับประเทศในอาเซียนรวมถึงไทย ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า
เมื่อมองไปยังรอบบ้าน ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธที่ยังไม่รู้ว่าจะหาข้อยุติลงได้เมื่อใด ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับการต่างประเทศของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมายาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ปัญหาผู้อพยพที่อาจจะทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้นหากความไม่สงบทวีความรุนแรงขึ้น การใช้ความรุนแรง อาทิ คาร์บอมบ์ที่พบเห็นบ่อยขึ้น หรือแม้กระทั่งยาเสพติดที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนไทยมากขึ้น จากการที่ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาจำเป็นต้องเร่งหาเงินทุนสำหรับซื้ออาวุธเพื่อรับมือกับการกวาดล้างของรัฐบาลทหาร ตราบใดที่สถานการณ์ในเมียนมาไม่คลี่คลาย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทยเช่นกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 ธันวาคม 2565