JETC ไทย-ตุรกี ครั้งแรกรอบ 20 ปี ปูทางสู่หุ้นส่วนยุทธ์ศาสตร์-ตั้งเป้า FTA
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเดินทางไปร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี (JETC) ครั้งที่ 4 ที่กรุงอังการา ประเทศตุรกี ซึ่งถือเป็นการฟื้นกลไกการหารือระดับสูงที่สุดระหว่าง 2 ประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และยังเป็นการหารือในโอกาสสำคัญของการครบรอบ 65 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ตุรกี และครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีอีกด้วย
ระหว่างการเยือน นายดอนได้เข้าเยี่ยมคาราวะและหารือกับ นายฟวต อ็อกไต รองประธานาธิบดีตุรกี ประชุมร่วมกับ นายเมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี พร้อมกับลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2566-2571 และร่วมเป็นประธานการหารือ JETC กับ นายมุสตาฟา วารังก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ก่อนที่จบภารกิจด้วยการเดินทางไปวางพวงมาลารำลึกถึง นายมุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก ประธานาธิบดีคนแรกของตุรกีที่สุสานอะนิตกาเบอร์ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย พร้อมลงนามในสมุดเยี่ยมว่า “Peace at home, Peace in the World.”

ภารกิจที่กินเวลาเพียงไม่ถึง 2 วันครั้งนี้อัดแน่นไปด้วยสาระ และถือเป็นการรื้อฟื้นความร่วมมือที่ห่างหายกันไปนานกว่า 2 ทศวรรษได้อย่างคุ้มค่า โดยการหารือ JETC นอกจากจะมีการลงนามในเอกสารผลลัพท์การประชุมที่ได้มีการตั้งเป้าหมายขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่น่าสนใจระหว่างกันแล้ว ประธานร่วมทั้งสองยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ของไทยกับหน่วยงานความร่วมมือและการประสานงาน (TIKA) ของตุรกี
นายดอนกล่าวว่า ภาพรวมของการเยือนครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จบนพื้นฐานที่ดีของทั้งสองฝ่าย ทั้งในการพบปะกับรองประธานาธิบดีที่รู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่ดี ได้พบกับภาคเอกชน และมองไปข้างหน้าร่วมกันว่าจะทำอย่างไรได้ในเรื่องของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่ครอบคลุมในทุกเรื่องราวตั้งแต่ การค้า ลงทุน อาหาร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของตุรกีทีได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเพราะตุรกีได้ทุ่มงบประมาณในเรื่องการวิจัยและพัฒนามาก อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่ไม่ใช่ในมุมของทหารแต่ยงรวมถึงการเกษตรอีกด้วย
หนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายตุรกีพูดถึงในหลายเวทีคือการที่ไทยได้ดุลการค้ากับตุรกีค่อนข้างมาก ซึ่งนายดอนระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ตุรกีอยากเห็นคือการลดการเสียดุลทางการค้าที่มีอยู่กับประเทศไทย แต่เรื่องเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติในทางการค้า จึงได้แนะนำสิ่งที่จะช่วยเช่น การลงทุนในโครงการที่เขามีศักยภาพในไทยที่ผลิตผลที่เกิดจากการลงทุนจะมีตลาดที่กว้างกว่า ไทยสามารถให้ตุรกีเป็นจุดเริ่มต้นสู่ตลาดอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และตลาดภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีประชากร 2,000 ล้านคน ขณะที่ตุรกีสามารถช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง คาบสมุทรบอลข่านและคอเคซัส
เมื่อถามถึงการที่ทั้งสองประเทศห่างหายจากการหารือกันมานานถึง 20 ปี นายดอนกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ห่างหายคือกลไกของการประชุม แต่มุมของการติดต่อก็ยังคงมีการดำเนินกันเสมอมา แต่าสามารถมาชดเชยจากแผนปฏิบัติการที่มีการลงนามกันที่ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นและเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่าง TICA กับ TIKA ขณะที่ภาคเอกชนตุรกีก็มีความมั่นใจกับการตัดสินใจมาลงทุนในไทย เช่นเดียวกับการรับรู้ในระดับประชาชนที่ก็มีมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งวันของการทำงานที่ครอบคลุมทุกเรื่อง และจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในหรือก่อนปี 2571
ในระหว่างแถลงข่าวร่วมกัน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตุรกีระบุว่า ไทยถือเป็นผู้เล่นหลักที่มีความสำคัญในเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศที่ตุรกีพุ่งเป้าหมายในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ เพราะเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างตุรกีและไทยเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งถือว่ามีความหมายมากแต่เชื่อว่ายังไม่เพียงพอ เพราะยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือกันต่อไปได้อีก โดยทั้งสองฝ่ายต่างสนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าทางการค้าและขยายความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่หวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในปีนี้
นายวารังก์กล่าวด้วยว่า การประชุม JETC จะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถส่งเสริมความร่วมมือในหลากหลายด้าน ท่ามกลางสงครามยูเครนและความท้าทายต่างๆ กลไกเช่นนี้จึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความร่วมมือใหม่ใหม่ภายใต้ JETC ที่ครอบคลุมสาขาต่างๆ มากมาย ขณะนี้มีบริษัทตุรกีเข้าไปลงทุนในประเทศไทยหลายบริษัท และใช้ไทยเป็นฐานในภูมิภาค ตุรกีก็อยากจะเห็นบริษัทไทยเข้ามาลงทุนในตุรกีเพิ่มมากขึ้น และยินดีที่จะต้อนรับการมาลงทุนของไทย ทั้งยังหวังว่าการประชุมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศต่อไป

ด้าน นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดี TICA ได้พบหารือกับ นายเซอร์คาน กายาลาร์ ประธาน TIKA เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันคือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการริเริ่มความร่วมมือทั้งทวิภาคี ไตรภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค โดยจะมีการหารือในประเทศเป้าหมาย สาขาความร่วมมือ และรูปแบบความร่วมมือ เพื่อให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมร่วมกันภายในปีนี้
นางอุรีรัชต์กล่าวถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ TIKA ว่าเป็นการขยายภาคีคู่ร่วมมือด้านการพัฒนาของไทยในภูมิภาคยุโรปตะวันออก รวมทั้งขยายบทบาทความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทย ในรูปแบบใต้-ใต้ และไตรภาคีที่จะนำไปต่อยอดและขยายผลในวงกว้างในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ความตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือหลายฝ่ายผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และถ่ายทอดต่อให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นประเทศเป้าหมายร่วมกัน ในสาขาที่ทั้งสองประเทศมีความเชี่ยวชาญ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร และสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องแนวนโยบายทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความมั่นคง 4 ด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงด้านอาชีพ และความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน
ขณะที่ นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูตไทยประจำตุรกี กล่าวว่า การเดินทางเยือนตุรกีของท่านรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศถือเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกีก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความร่วมมือกันในกรอบต่างๆอยู่แล้ว แต่กลไกของการประชุม JETC ถือเป็นกลไลความร่วมมือการหารือที่สูงที่สุดในระดับรัฐมนตรีที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศ นับว่าเป็นเรื่องดีมากที่ระดับนโยบายได้มานั่งทบทวนและวางแผนความร่วมมือที่จะก้าวไปข้างหน้า การประชุมดังกล่าวยังเกิดขึ้นในจังหวะที่ดี ที่ปีนี้เป็นปีครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี และเป็นปีที่ท่านรองนายกฯและรัฐมนตรีดอนได้นำความปรารถนาดีของคนไทยมาให้กับชาวตุรกีในปีครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีอีกด้วย
เมื่อถามถึงประเด็นที่ตุรกีกำหนดให้ไทยเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศที่ตุรกีต้องการที่จะฟื้นฟูความร่วมมือในมิติต่างๆ ท่านทูตอภิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศตุรกีได้ประกาศนโยบายความริเริ่มเอเชียอีกครั้ง หรือ “Asia Anew Initiative” เมื่อปี 2562 ตุรกีเป็นทั้งยุโรปและเอเชีย และเขาต้องการที่จะกลับไปหารากที่เป็นเอเชียของเขา ขณะที่ในด้านการค้าและเศรษฐกิจ
เมื่อปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าตุรกีประกาศ ยุทธศาสตร์การรุกด้านการค้าไปยังประเทศคู่ค้าที่ห่างไกล หรือ “Far Countries Strategy” เพื่อทำงานเชิงรุกด้านการค้าเพิ่มขึ้นใน 18 ประเทศเป้าหมาย และไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศเป้าหมายของตุรกี ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าตุรกีหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียและประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับโอกาสของภาคธุรกิจไทยในตุรกีมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ท่านทูตอภิรัตน์กล่าวว่า แม้ปัจจุบันตุรกีมีปัญหาเรื่องสกุลเงินลีร่าตกต่ำอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ และเผชิปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่หากมองปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจตุรกีก็ต้องยอมรับว่ายังดีอยู่มาก ประเทศตุรกีมีประชากร 80 ล้านคนใน 81 จังหวัด รวมถึงมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี เป็นทางผ่านที่สามารถไปถึงภูมิภาคต่างๆ ได้ ฉะนั้นในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ที่ตุรกีมีกับประเทศต่างๆ ถ้านักธุรกิจไทยมาลงทุนตรงนี้ ก็อาจใช้ตุรกีเป็นสะพานเพื่อเชื่อมไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักได้
ตุรกียังเป็นประเทศที่มีประชากรคนวัยหนุ่มสาวจำนวนมากซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ทำให้สามารถเป็นแรงงานที่มีฝีมือได้ พร้อมกับมีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในหลายด้าน ดังนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยที่สนใจก็สามารถที่จะมาร่วมมือกันได้ และสถานทูตไทยก็ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและนักธุรกิจไทยที่สนใจ
ท่านทูตอภิรัตน์บอกด้วยว่า ท่านรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศยังผลักดันในเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างกัน ซึ่งหากสามารถเร่งรัดการเจรจาและลงนามกันได้ ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยด้วยเช่นกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 31 มกราคม 2566