สรุปประเด็นน่าสนใจจากผู้อภิปรายในงานสัมมนา Frankfurt Digital Finance ครั้งที่ 4
Frankfurt Digital Finance เป็นงานสัมมนาด้านการเงินที่สำคัญงานหนึ่งในยุโรป จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ที่ประเทศเยอรมนี โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน นักลงทุน สถาบันการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาอภิปรายและหารือเกี่ยวกับแนวทางรวมถึงมาตรการต่าง ๆ สำหรับทิศทางการเงินในอนาคต เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา งานสัมมนา Frankfurt Digital Finance ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีผู้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาพรวมตลาด Startups :
ปี 2565 การดำเนินธุรกิจของ Startups ผ่านไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการระดมทุนซึ่งมูลค่าลดลงราว 50% เนื่องจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดคริปโตขาลง โดยคาดว่า ตลาด Startups จะกลับมาคึกคักได้ในปี 67-68 อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้เป็นโอกาสทบทวนและเตรียมความพร้อมทั้งในมิติของ regulator และ startups
การเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจแบบ ESG :
ESG (Environment, Social, Governance) เป็นแนวโน้มสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเชื่อว่าภายใน 5-10 ปี จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงเป็นข้อท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในการปรับธุรกิจให้ตอบโจทย์หลัก ESG มากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านของรูปแบบการธนาคาร :
ธนาคารส่วนใหญ่ปรับกระบวนการทำงานสู่รูปแบบดิจิทัล ขณะที่การให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กันยังคงเป็นการให้บริการในรูปแบบเดิมอยู่ เช่น การกรอกข้อมูลลงบนกระดาษ แทนที่จะเป็นการกรอกออนไลน์แบบ 100% ทั้งนี้ การธนาคารจะยังคงเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า ภายใน 5 ปี mobile banking จะเป็น platform หลัก
การเปลี่ยนสินทรัพย์สู่ “token” :
แม้ว่าการเปลี่ยนสินทรัพย์สู่ token บนเทคโนโลยี blockchain จะเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ เนื่องจากช่วยสร้างประสิทธิภาพการจัดระเบียบสินทรัพย์ขององค์กรหรือบุคคล และเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ด้วยข้อบังคับในการใช้ token ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่น จึงทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่เป็นที่นิยม
การฉ้อโกงและการฟอกเงิน :
การขโมยอัตลักษณ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินควรนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการตรวจสอบทั้งรูปแบบเอกสารหลักฐานและรูปแบบดิจิทัลด้วย รวมถึงควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตรวจสอบและทดสอบระบบ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละขั้นตอนเป็นสำคัญ
ความมั่นคงทางไซเบอร์ :
การถูกโจรกรรมข้อมูล (hacking) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินควรเตรียมพร้อมรับมือ โดยหมั่นทดสอบระบบ และซักซ้อมการรับมือเมื่อเหตุเกิดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควรมีแผนรองรับและฟื้นฟูหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น
จากการอภิปรายทั้งหมดข้างต้น นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณานำแนวทางบางส่วนไปปรับใช้ในการทำธุรกิจต่อไปได้ (ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต)
ที่มา globthailand
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566