ส่องดูเซินเจิ้น เมืองหลวงแห่งโดรนกับอนาคตธุรกิจขนส่งทางอากาศ
เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen UAV Industry Association) เผยข้อมูลว่า ในปี 2565 จีนมีวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) กว่า 12,000 ราย ซึ่งเป็นกิจการที่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้นกว่า 1,300 ราย สร้างมูลค่าต่อปีเกือบ 7.5 หมื่นล้านหยวน อัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่า 30% ซึ่งมีปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ การที่เมืองเซินเจิ้นมีห่วงโซ่และสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของอุตสาหกรรม UAV ที่สมบูรณ์
ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นได้เร่งสร้างศูนย์ ‘เศรษฐกิจอากาศยานบินต่ำ’ (Low-altitude Economy) ชั้นนำระดับโลกและสนับสนุนการสร้างโรงงานผลิต UAV เชิงโลจิสติกส์แห่งแรกของจีน พร้อมตั้งเป้าหมายมีเที่ยวบิน UAV ขนส่งสินค้ากว่า 500,000 เที่ยว ให้สมกับที่ได้รับขนานนามว่า ‘เมืองหลวงแห่งโดรน’
เหม่ยถวน (Meituan) ผู้นำแห่งโดรนเดลิเวอรี่ :
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม e-commerce และบริการ food delivery เจ้าใหญ่แดนมังกร ‘เหม่ยถวน’ ได้เปิดตัวระบบโลจิสติกส์โซลูชันอากาศยานบินต่ำในเขตเมืองที่มีชื่อว่า ‘ศูนย์บริหารปฏิบัติการ UAV เมืองเซินเจิ้น’ (Meituan UAV Shenzhen Operations Management Center) ซึ่งภายในศูนย์ปฏิบัติการจะมีระบบจัดตารางเส้นทางการจัดส่งคำสั่งซื้อ (Order) อัตโนมัติให้กับลูกค้าที่พักอาศัยอยู่ภายในรัศมี 600 กิโลเมตรของศูนย์ และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลระบบและ UAV ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น
ซึ่งการให้บริการขนส่งผ่านโดรนมีหลักการทำงานคร่าว ๆ คือ เมื่อลูกค้ายืนยันคำสั่งซื้อสินค้าบนแอปพลิเคชันเหม่ยถวน พนักงานขนส่งจะรับคําสั่งซื้อและเดินทางไปยังร้านค้าเพื่อรับพัสดุหรือสินค้า และนําไปติดกับโดรนที่อยู่ใกล้ที่สุด จากนั้นโดรนจะขนส่งพัสดุหรือสินค้าไปยังจุดรับสินค้าและหย่อนลงตู้รับสินค้าที่กำหนดไว้ โดยลูกค้าจะได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือเมื่อพัสดุหรือสินค้าส่งถึง และรับพัสดุหรือสินค้าที่ตู้บริการผ่านการกดรหัสรับสินค้าหรือสแกน QR code
ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัทเหม่ยถวนระบุว่า เมื่อปี 2565 บริษัทเหม่ยถวนได้นําร่องให้บริการขนส่งสินค้าโดยใช้โดรนกว่า 100,000 ครั้ง ขยายตัวมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 โดย ณ ปลายปี 2565 บริษัทเหม่ยถวนได้ให้บริการแก่ลูกค้าในพื้นที่นําร่องในเมืองเซินเจิ้นแล้วกว่า 20,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 18 ชุมชน อาคาร และสำนักงาน และจัดส่งสินค้ามากกว่า 20,000 ประเภท อาทิ สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ กาแฟ และชานม รวมถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอ้อม และดอกไม้ โดยใช้เวลาจัดส่งเฉลี่ยเที่ยวละ 12 นาที ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบการจัดส่งแบบเดิมกว่า 150% โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการโดรนขนส่ง คือ กลุ่มพนักงานออฟฟิศอายุระหว่าง 20 – 35 ปี คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด
โดรนกับประเทศไทย :
เมื่อหันกลับมามองการประยุกต์ใช้โดรนในประเทศไทย นอกเหนือจากการใช้โดรนถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอที่เห็นกันจนเริ่มชินตาแล้ว ในภาคการเกษตรก็มีการใช้ประโยชน์จากโดรนอย่างโดรนสำหรับหว่านปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมีเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาคเอกชน 3 แห่งในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ บริษัทโบ๊ทพัฒนา จํากัด บริษัทวิลล่ามาร์เก็ท เจพี จํากัด และบริษัทเอวิลอน โรโบทิคส์ จํากัด ยังได้ร่วมกันเปิดตัวบริการโดรนส่งของ ‘Drone Delivery Service’ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้งานด้วยการสั่งออเดอร์ผ่านแอปพลิเคชัน Villa Market เกื้อหนุนโครงการ ‘ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้’ (Phuket Smart City) โครงการนําร่องต้นแบบจังหวัดอัจฉริยะเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโมเดลธุรกิจการลงทุนที่ทันสมัย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวพร้อมในการเชื่อมโยงบริษัทไทยที่ประสงค์จะมีความร่วมมือกับบริษัทโดรนในเมืองเซินเจิ้นที่จะนําไปสู่การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
บินตรงไปอย่างไม่หยุดยั้ง :
ช่วงวันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2566 งานประชุมโดรนโลกครั้งที่ 7 ประจําปี 2566 จะถูกจัดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นพร้อมนิทรรศการโดรนนานาชาติ ณ เมืองเซินเจิ้นครั้งที่ 8 โดยในงานจะมีวิสาหกิจด้านโดรนจากจีนและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 400 ราย มีการจัดเวทีอภิปรายกว่า 30 หัวข้อ เช่น เทคโนโลยีโดรนชั้นนํา การจราจรทางอากาศในเขตเมือง โดรนช่วยเหลือ ฉุกเฉินและโดรนโลจิสติกส์ การกำกับดูแลความปลอดภัย หุ่นยนต์ AI ยานยนต์บินระดับต่ำ และยานยนต์ไร้คนขับความเร็วต่ำ นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดแสดงระบบและอุปกรณ์โดรนกว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์จากบริษัททั่วโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ ระบบการขนส่งด้วยโดรนยังมีข้อได้เปรียบ เช่น สามารถขนส่งไปยังบริเวณที่เข้าถึงได้ยากหรือมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดีนัก รวมถึงข้อดีด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยทั่วไปโดรนจะปล่อย CO2 สู่อากาศน้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถตู้ในการขนส่งหนึ่งรอบ และอัตราการปล่อย CO2 ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับยานยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยน้ำมัน จึงกล่าวได้ว่าการขนส่งสินค้าด้วยโดรนอาจกลายเป็นส่วนสำคัญของอนาคตห่วงโซ่อุปทานของบริการขนส่งของจีนก็เป็นได้ (ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว)
ที่มา globthailand
วันที่ 27 มีนาคม 2566