190 ปีแห่งสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ The Asia Foundation จัดงานเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "190 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ในโอกาสครบรอบ 190 ปี ที่ไทยและสหรัฐได้ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อ 190 ปีก่อน ในวันที่ 20 มีนาคม 2376
ในงานดังกล่าวมีผู้ร่วมกล่าวเปิดงานทั้งสิ้น 3 คนเริ่มจาก นางแทมมี่ ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ที่กล่าวเปิดงานผ่านบันทึกทางวีดิทัศน์ด้วยการแสดงความยินดีกับความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศ ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชีย เป็นหุ้นส่วนที่สามารถพึ่งพาได้ทั้งในยามสงบและยามมีความขัดแย้ง ร่วมมือกันจัดการกับอาชญากรรมและให้ความร่วมมือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในสหรัฐกว่า 3 แสนคน ซึ่งรวมทั้งตนเอง และมีนักเรียนจากไทยมาปีละหลายพันคน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และระดับประชาชนกับประชาชน โดยนางดักเวิร์ธยังได้แสดงความภูมิใจที่ตนเองเป็นคนไทย-อเมริกันด้วย

ต่อมา นางเมลิสซา บราวน์ Deputy Assistant Secretary, Bureau of East Asian and Pacific Affairs กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวถึงสถานะความสัมพันธ์ในปัจจุบันที่มีความใกล้ชิด โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลสหรัฐหลายคนเดินทางเยือนไทย รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองประธานาธิบดีของสหรัฐ อีกทั้งมีการลงนามในเอกสารสำคัญได้แก่ 1.แถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และ 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม ความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อไป
นางบราวน์กล่าวว่า ความเป็นพันธมิตรของไทยเสมือนเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ โดยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในหลายมิติ ด้านการค้าและการลงทุน ได้กล่าวถึงคณะนักธุรกิจของสหรัฐที่ไปร่วมงาน Trade Winds และการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งสองทาง ด้านความมั่นคง ก็มีการฝึกซ้อม Cobra Gold ครั้งที่ 42 ซึ่งในปีนี้มีทหารสหรัฐเข้าร่วมมากที่สุดตั้งแต่มีการฝึกซ้อมร่วมกันมา ด้านสาธารณสุข ความร่วมมือระหว่าง US CDC กับกระทรวงสาธารณสุขที่มีมากว่า 60 ปี การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ตัวเลขนักท่องเที่ยวสหรัฐที่เพิ่มขึ้นและนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการมาสหรัฐมีแนวโน้มที่จะสูงสุดในรอบ 25 ปี และยังมีแนวคิดการจัดทำความตกลงเมืองพี่เมืองน้องระหว่างเชียงใหม่กับออสติน รัฐเท็กซัส เป็นต้น
นางบราวน์ยังได้แสดงความชื่นชมไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบ พร้อมแสดงความหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งของไทยที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและโปร่งใส รวมทั้งได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในประเด็นต่างๆ ในภูมิภาค ทั้ง IPEF การพัฒนาลุ่มน้ำโขง และประเด็นต่างๆ ในกรอบอาเซียนด้วย
ด้าน นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวถึงประเด็นการยกระดับความเป็นพันธมิตร (Alliance-A) โดยพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งพิงของกันและกัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงมั่งคั่งในภูมิภาค และแสดงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับสหรัฐในประเด็นปัญหาสำคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤติพลังงาน และประเด็นการทูตเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือไตรภาคีในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งกล่าวถึงการยกระดับความเป็นพันธมิตรโดยการผลักดันการเยือนระดับสูงของไทยในโอกาสที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค 8 ครั้งในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีคณะของไทยมาเยือนสหรัฐเพื่อเสริมสร้าง ความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และยกตัวอย่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของไทยว่าจะมีส่วนสำคัญในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

ในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน (Sustainability-S) โอกาสและศักยภาพ การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของไทย-สหรัฐ โดยเฉพาะการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเครื่องมือทางการแพทย์ และสินค้าดิจิทัล และการลงทุนของสหรัฐในไทย เช่น Amazon Web Services (AWS) Google และการลงทุนของไทยในสหรัฐด้วย ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และหวังว่าจะส่งเสริมความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับสหรัฐ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตให้ความสำคัญกับการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย โดยก่อนหน้าได้จัดตั้ง Global Innovation Club และมีเป้าหมายที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าถึงเงินทุนและเติบโตได้ต่อไป ซึ่งจากการเดินทางไปรัฐเท็กซัสและนครไมอามีได้พบลู่ทางการเชื่อมโยงความร่วมมือกับสหรัฐ และจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อหาลู่ทางสร้าง ความร่วมมือต่อไป
นอกจากนี้ยังพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนไทยในสหรัฐ (Participation-P) การให้ความสำคัญกับส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนไทย และสมาคมต่างๆ ของไทย เพื่อส่งเสริมบทบาทของชุมชนไทยในสหรัฐ ผ่านองค์กรต่างๆ ที่มีอาณัติและเครือข่ายระดับชาติ เช่น สมาคมทนายความไทย-อเมริกัน (TABA) สมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐ และองค์กรสามัคคี เป็นต้น และผ่านการจัดงานเทศกาลไทยของชุมชนเองในเมืองต่างๆ อาทิ ไมอามี มินิโซตาและกรุงวอชิงตัน
นายธานีได้ย้ำในตอนท้ายถึงการเลือกตั้งในไทยว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร รัฐบาลไทยจะยังคงให้ความสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่พึ่งกลไกตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ข้าราชการประจำและหน่วยงานต่างๆ จะรักษาความต่อเนื่องของการทำงานและความสัมพันธ์ต่อไป
ขณะที่ในเวทีเสวนา มีผู้เข้าร่วมได้แก่ พันเอกลาร์รี เรดมอน อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐประจำประเทศไทย ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ และ ดร.คาทาริน ดัลปิโน จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ โดยมี นายจอห์น แบรนดอน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ The Asia Foundation เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ดัลปิโนให้มุมมองในแง่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐ โดยกล่าวถึงความร่วมมือที่ผ่านมา รวมทั้งช่วงเวลาที่ความเป็นพันธมิตรมีความห่างเหินโดยเฉพาะหลังสงครามเย็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีสาเหตุจากการที่สหรัฐมีความสนใจในประเด็นอื่นๆ ของโลกมายิ่งขึ้นเมื่อภัยคอมมิวนิสต์หมดไป อีกทั้งการที่สหรัฐให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขณะที่ไทยประสบปัญหาบางช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองห่างเหินยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่สหรัฐไว้ใจได้เสมอมา ทั้งในประเด็นปราบปรามยาเสพติดที่มาจากสามเหลี่ยมทองคำ การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเหตุการณ์สึนามิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน การเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับโลจิสติกส์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของการฝึกร่วม Cobra Gold ที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องอีกด้วย
ด้านพันเอกเรดมอนกล่าวถึงความเป็นพันธมิตรทางทหารที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-สหรัฐ และชื่นชมไทยที่มีบทบาทที่สร้างสรรค์สมกับเป็นพันธมิตรมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และการฝึกร่วม Cobra Gold อีกทั้งมีความร่วมมือด้านการพัฒนาร่วมกัน เช่น การก่อสร้างทางหลวงสายมิตรภาพ โรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งยังได้กล่าวสนับสนุนให้สหรัฐให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงกองทัพของไทยให้ทันสมัย และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย โดยสาขาที่มีศักยภาพ เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ อากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนกล่าวถึงประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย-สหรัฐ ซึ่งผู้นำไทยหลายท่านได้ผ่านการศึกษาในระบบกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

ผศ.ดร. พงศ์พิสุทธิ์ กล่าวถึง ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในอดีต ซึ่งในบางช่วงอาจจะทำให้ไทยรู้สึกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับไทยในฐานะพันธมิตร โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 และการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยระบุว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศมีโอกาสที่จะแนบแน่นกันยิ่งขึ้นได้ หากไทยให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมากขึ้น และสหรัฐแสดงให้ฝ่ายไทยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐยังอาจร่วมมือในประเด็นภูมิภาคเพิ่มขึ้น เช่น ด้านความมั่นคงผ่าน ASEAN Outlook on the Indo-Pacific และ A Free and Open Indo-Pacific ด้านการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบยุทธศาสตร์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya -Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือ ACMECS และกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) โดยเห็นว่า การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน จะช่วยส่งเสริมความเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 เมษายน 2566