ไทยกับเวียดนาม : ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
(1) ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 (มีกำหนดครบรอบ 45 ปีในปี 2564) ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคภายหลังสงครามเย็น การเจรจาซึ่งนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นก้าวแรก และเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเวียดนามในภายหลัง นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ ของไทย อาทิ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” และนโยบายให้สัญชาติแก่บุตรหลานชาวเวียดนามโพ้นทะเลในไทย ตลอดจนการให้การยอมรับทางกฎหมายและทางสังคมได้มีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามอยู่ในระดับที่ดีและมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน โดยทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 และได้มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม (ปี 2557 – 2561) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ล่าสุด
ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2562 ทั้งสองฝ่ายได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) และเห็นพ้องที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการระยะที่ ๒ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างปี 2563 - 2568
1.1 การเมืองและความมั่นคง :
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามในด้านการเมืองและความมั่นคงอยู่ในระดับดี ผู้นำของทั้งสองประเทศมีโอกาสพบหารือกันในหลายโอกาส และนายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกับผู้นำของเวียดนาม โดยนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางกระชับความร่วมมือรอบด้าน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้พบกันบ่อยครั้งในการประชุมระดับพหุภาคีต่าง ๆ โดยล่าสุด นายเหวียน ซวน ฟุก ได้เดินทางเยือนไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ
สำหรับนางดั่ง ถิ หง็อก ถิง (Dang Thi Ngoc Thinh) รองประธานาธิบดีเวียดนาม ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อเดือนตุลาคม 2560
ไทยและเวียดนามมีกลไกการดำเนินความสัมพันธ์ที่สำคัญในหลายระดับ ได้แก่
(1) การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประธาน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
(2) การหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Ministers’ Retreat – FMR) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่ายเป็นประธาน และไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2562 และ
(3) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JCBC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่ายเป็นประธาน และไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2562
ในด้านความมั่นคง กองทัพของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านการศึกษาอบรม การฝึกซ้อม และการลาดตระเวนร่วมทางทะเล ซึ่งช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation – JWG on PSC) ครั้งที่ ๑๑ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนามเป็นประธานร่วม
1.2 การค้า :
ไทยกับเวียดนามมีกลไกความร่วมมือด้านการค้าที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee – JTC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเป็นประธานร่วม โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563
เวียดนามเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย เนื่องจากเป็นตลาด ขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในโลกและเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2558 – 2562) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 15,915.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.91 ต่อปี
โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่
(1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
(2) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง
(3) เม็ดพลาสติก
(4) เคมีภัณฑ์
(5) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
(6) น้ำมันสำเร็จรูป
(7) เครื่องดื่ม
(8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร
(9) ผลิตภัณฑ์ยาง และ
(10) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ในปี 2562 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกันไทยกับเวียดนามมีจำนวน 17,571.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 5.82 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 6,659.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศลดลงในปี 2562 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ควบคู่กับการที่เวียดนามเริ่มสามารถกลั่นน้ำมันได้เองภายในประเทศ จึงทำให้ไม่ต้องส่งน้ำมันดิบมากลั่นที่ไทย และทำให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันที่กลั่นแล้วกลับไปยังเวียดนามลดลง
1.3 การลงทุน :
เวียดนามได้กลายเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาค เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร แรงงาน ตลาดผู้บริโภค รวมถึงมีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ อีกทั้งมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับหลากหลายประเทศ โดยสถานะ ณ เมษายน 2563 ไทยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติอันดับ 9 ในเวียดนาม มีโครงการทั้งหมด 567 โครงการ มูลค่าการลงทุนสะสม รวม 12,304 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยนักลงทุนรายใหญ่ของไทยในเวียดนาม เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือ SCG กลุ่มอมตะ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทบีทาเก้น บริษัทเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง บริษัทไทยนครพัฒนา บริษัททีโอเอ บริษัทไทยซัมมิท บริษัทสยามสตีล ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์
1.4 ความร่วมมือด้านแรงงาน :
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ไทยและเวียดนามได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างไทย – เวียดนาม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านแรงงานระหว่างกัน โดยอนุญาตให้นำเข้าแรงงานเวียดนามอย่างถูกกฎหมายมายังไทยในสาขากิจการประมงและก่อสร้างซึ่งไทยขาดแคลน อย่างไรก็ตามมีแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในไทยในสาขาดังกล่าวค่อนข้างน้อย และยังมีปัญหาเรื่องแรงงานเวียดนามที่เข้ามาไทยอย่างผิดกฎหมาย
1.5 การท่องเที่ยว :
ปี 2562 มีชาวเวียดนามเดินทางมาประเทศไทย 1,047,629 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 1,028,150 คน ขณะที่ชาวไทยเดินทางไปเวียดนาม 507,802 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.52 เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 349,310 คน ก่อนที่การเดินทางระหว่างประเทศจะถูกระงับไปเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไทยและเวียดนามมีเที่ยวบินระหว่างกัน 298 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สามารถจุผู้โดยสารได้รวม 4,839๔ คนต่อวัน หรือ 50,976 คนต่อสัปดาห์
ที่มา thaibiz-vietnam