ส.เอสเอ็มอีไทย ถกดีอีเอส ยื่น 15 เรื่อง ช่วยยกระดับเอสเอ็มอีไทยสู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ตน พร้อมกับ ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และคณะผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงฯ นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีฯ และคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและสร้างระบบนิเวศน์เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทางการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลฯ
ทั้งนี้ ประเด็นหารือ ได้แก่
1)อินเตอร์เนตราคาถูกสำหรับเอสเอ็มอีและเกษตรกรเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มการเข้าถึงการใช้งานอินเตอร์เนตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
2)สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โน้ตบุค แทปเลต ราคาถูกสำหรับเอสเอ็มอีและเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนและสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆอย่างทั่วถึงให้ใช้งานด้าน e-commerce ตลาดดิจิทัลมีเดียเพิ่มขึ้น
3)ฟรี WiFi สำหรับพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการขับเคลื่อน Smart city และการท่องเที่ยวชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ
4)ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและดิจิทัลอาสาประจำหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริม Digital citizenship โดยให้คำปรึกษา แนะนำและสอนการใช้งานด้านดิจิทัลคอนเท้น ดิจิทัลมีเดีย และเพิ่มทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลให้กับภาคประชาชนในหมู่บ้าน
5)ฟรี Website และ Domain .th ในปีแรก สำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ เพื่อการเข้าถึงฐานข้อมูลธุรกิจดิจิทัลของคนไทย ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติในระยะยาว
6)บริการ Short Link URL สำหรับเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดการหลวงลวง
7)รวบรวมเครื่องมือช่วยดำเนินธุรกิจดิจิทัลของบริษัทไทยและคนไทยเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถใช้ได้ฟรีและราคาถูก เพื่อการเข้าถึงการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจแยก Digital Service provider ตามคลัสเตอร์เอสเอ็มอี เป็นต้น
8)ส่งเสริมให้มีการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลดิจิทัลสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการวางแผนธุรกิจ ดำเนินธุรกิจ ขยายธุรกิจจากการใช้ข้อมูลของภาครัฐและหน่วยงานที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีทั้งในและต่างประเทศ
9)ยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ อาทิ Digital marketing iOT e-commerce AI เป็นต้น
10)ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาบุคลากรของเอสเอ็มอีและผ้ประกอบการเอสเอ็มอีในราคาถูกและ/หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบตลอดชีวิตที่ยั่งยืน
11)ให้สิทธิประโยชน์เอสเอ็มอีในการการจ้างงานแรงงานทางด้านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมธุรกิจในการแข่งขัน และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง อาทิ เงินอุดหนุน ภาษี เป็นต้น
12)ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถปฏิบัติตามกฎหมายด้านดิจิทัลได้ถูกต้อง ต้นทุนต่ำและได้แต้มต่อในการแข่งขันทางธุรกิจ อาทิ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ป็นต้น
13)ส่งเสริมความเท่าเทียมเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าระหว่างเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจใน e-market place platform กับผู้ประกอบการต่างชาติที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ในประเทศไทย เพื่อการแข่งขันทางด้านราคา การจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐ ส่งเสริมฐานข้อมูลการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ในประเทศที่จะใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ ออกแบบนโยบาย มาตรการส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
14)เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยสามารถขยายตลาดให้เติบโตทั้งในและต่างประเทศโดยกลไกการสนับของไปรษณีย์ไทย เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในท้องถิ่น การยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นด้านการบรรจุ คัดเลือกบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่เหมาะสม เพิ่มสัดส่วนและมูลค่าตลาดทั้งในประเทศและการค้าชายแดน-ผ่านแดน รวมทั้งการส่งออกอีกด้วย
15)ส่งเสริมให้มีการวิจัยและการให้ทุนจากกองทุน กทปส. ของ กสทช. และกองทุนดีอีเอสเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าร้อยละของครัวเรือนที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3 เรื่องแรก คือ อินเตอร์เนตราคาถูกร้อยละ 51 ค่าทรศัพท์มือถือราคาถูกร้อยละ 22 Free WiFi ในพื้นที่สาธารณะร้อยละ 16 ขณะที่ตลาด e-commerce มีความสำคัญต่อการเติบโตของเอสเอ็มอีซึ่งมีมูลค่าการค้านี้ถึงราว 2 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนราวร้อยละ 61
เพื่อรองรับรูปแบบการค้าที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมในการใช้เครื่องมือกลไกทางการค้าดิจิทัลออนไลน์เติบโตเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการสร้างออนไลน์คอนเท้น โซเชี่ยลมีเดียเพื่อการทำการตลาดดิจิทัลเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ขยายตลาดให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยกว่า 2.7 ล้านราย วิสาหกิจชุมชน OTOP กว่า 80,000 ราย และเกษตรกรอีกหลายล้านครัวเรือนได้เรียนรู้และมีทักษะการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ
และจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่องการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิติบุคคลในการดำเนินธุรกิจ ปี พ.ศ.2564 จำนวน 2 กลุ่ม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการท่องเที่ยว พบว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ประกอบการรายย่อมร้อยละ 90 และผู้ประกอบการรายกลางร้อยละ 75 อยู่ใน Industry 1.0 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายย่อมร้อยละ 60 และผู้ประกอบการรายกลางร้อยละ 46
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 ธันวาคม 2566