ค่าระวางพุ่งรับตรุษจีน เรือขนส่ง Maersk ถูกโจมตีที่ทะเลแดงส่งท้ายปี
สรท.เผยส่งท้ายปี 2566 สายเรือ Maersk ยังถูกกลุ่มฮูตีโจมตีบริเวณทะแดง ค่าระวางเรือปรับขึ้นเฉลี่ย 250-1,100 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ขนส่งยาวขึ้น 10-15 วัน เผยใกล้เข้าเทศกาลตรุษจีน จีนเร่งนำเข้าตู้เปล่า หวั่นดันค่าระวางเรือพุ่ง แนะ 5 ข้อเสนอเร่งแก้ไข ชี้จะมีการหารือร่วมทุกฝ่าย 11 มกราคมนี้
วันที่ 4 มกราคม 2567 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่าจากกรณีกลุ่มฮูตีโจมตีเรือขนส่งคอนเทนเนอร์บริเวณช่องแคบ Bab al-Mandab ในทะเลแดง ในเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้สายเรือคอนเทนเนอร์หลักประกาศเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือจากเดิมผ่านคลองสุเอซ ไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาในการเดินเรือยาวนานขึ้นประมาณ 10-15 วัน ก่อให้เกิดภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการเดินเรือตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายอื่นตามจํานวนวันที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น สายเรือจึงประกาศเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากผู้ส่งสินค้าที่ต้องการส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป และเมดิเตอร์เรเนียน นอกเหนือจากค่าระวางที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 250-800 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต และ 500-1,100 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต หรือกรณีที่ต้องการส่งสินค้าเข้าไปยังท่าเรือในทะเลแดง จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเท่ากับ 1,575 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต และ 2,700 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต เป็นต้น
สําหรับผู้ส่งสินค้าที่มีสินค้าขนส่งระหว่างทาง บรรทุกสินค้าลงเรือก่อนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทะเลแดง สายเรือมี 2 ทางเลือกให้กับผู้ส่งสินค้า คือ
1) ส่งสินค้ากลับต้นทาง
2) ยินยอมให้สายเรือเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปแหลม Good Hope ทําให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มจากที่ตกลงไว้ในสัญญาการขนส่ง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับผู้ส่งออกจีนใกล้เข้าสู่ช่วง High Season จึงมีแนวโน้มในการดึงตู้เปล่าจากทั่วโลกเข้าไปยังประเทศจีน และเสนอค่าระวางในอัตราสูง ทําให้สายเรือทยอยปรับขึ้นค่าระวางการขนส่งไปยังทุกตลาดทั่วโลก ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร มีการจัดตั้งกองกําลังทางทหารเฉพาะกิจเรียกว่า Operation Prosperity Guardian เพื่อคุมครองการเดินเรือพาณิชย์ในทะเลแดงและทะเลอาหรับ ส่งผลให้สายเรือมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง และประกาศกลับมาเดินเรือในเส้นทางอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 สายเรือ Maersk ประกาศอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดว่า เรือขนส่งคอนเทนเนอร์ชื่อว่า Maersk Hangzhou ถูกกลุ่มฮูตีโจมตีและพยายามเข้ายึดเรือในบริเวณทะแดง แม้ว่ากองกําลังพันธมิตรจะสามารถสกัดกั้นการโจมตีดังกล่าวได้แต่ได้เพิ่มความกังวลต่อความปลอดภัยของเรือ ลูกเรือ และสินค้า ส่งผลให้สายเรือ Maersk ต้องประกาศหยุดเดินเรือผ่านทะเลแดงอีกอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยให้เจ้าของสินค้าติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ของสายเรือ
อย่างไรก็ดี สรท.ได้พิจารณา แนวทางดําเนินการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสายเรือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ส่งออกและผู้นําเข้าของไทย ดังนี้
1)สําหรับสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง โดยบรรทุกลงเรือก่อนการประกาศเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินเรือ ขอให้สายเรือคงค่าระวางเท่าเดิมตามสัญญาการขนส่งที่ได้ตกลงไว้กับผู้ส่งสินค้า
2)สําหรับการจองระวางการขนส่งใหม่ ขอให้สายเรือเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได และแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
3)ขอให้สายเรือเจรจากับท่าเรือเพื่อขอขยายระยะเวลา Free Time ในท่าเรือเป็น 21 วัน จากปกติ 3-7 วัน เพื่อลดต้นทุนกองเก็บตู้ในท่าเรือส่วนที่เกินเวลาที่กําหนด และขยายระยะเวลาการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อลดต้นทุน Demurrage/Detention ให้กับผู้ส่งสินค้า เนื่องจากการเดินเรือที่มีระยะทางไกลมากขึ้น อาจเกิดปัญหาการล่าช้าของเรือในท่าเรือถ่ายลํา และผู้ส่งสินค้าจําเป็นต้องเพิ่มระยะเวลาสําหรับการจัดหาบริการขนส่งทางเลือกเพื่อสูง สินค้าไปยังสถานที่ส่งมอบสินค้าเดิมหรือที่ใหม่
4)ขอให้สายเรือเพิ่มจํานวนเรือในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปให้เพียงพอต่อปริมาณสินค้าและรักษาความถี่ในการให้บริการเท่าเดิม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระวางเรือ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้าในตลาด ให้สินค้าสามารถส่งออกได้ตามกําหนด
5)ขอให้สายเรือแจ้งอัพเดตข้อมูลเส้นทางและระยะเวลาในการเดินเรือ ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เป็นปัจจุบันให้ผู้ส่งสินค้าทราบ
ทั้งนี้ กําหนดให้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนบริษัทสายเรืออีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม 2567 เพื่อติดตามสถานการณ์ และแนวทางการช่วยเหลือผู้ส่งออกผู้นําเข้าของไทยตามข้อเสนอข้างต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 มกราคม 2567