"DeepSeek" เพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดสหรัฐ แนะไทยเร่งปรับตัวรับความท้าทาย
DeepSeek เอไอสัญญาชาติจีนเขย่าวงการ อนุสรณ์ ธรรมใจชี้เพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดสหรัฐอเมริกา แนะไทยเร่งปรับตัวรับมือความท้าทาย ต้องคิดจริงจังเรื่องจะพัฒนาต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีที่มีอย่างไร
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดตัว DeepSeek เอไอสัญชาติจีนเขย่าวงการเอไอโลกด้วยด้วยต้นทุนต่ำมาก ต่อไปก็คงมีเอไอจีนต้นทุนต่ำเปิดตัวตามเพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเอไอของสหรัฐฯและยุโรปต้นทุนต่ำด้วย
ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ใช้ทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ในราคาถูกลงมาก เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอโลก ลดอำนาจผูกขาดเอไอสหรัฐอเมริกา ทำให้โครงสร้างตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอเคลื่อนตัวจากอำนาจผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่ไฮเทคเอไอสหรัฐฯ สู่ โครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น
แต่ยังคงสภาพการแข่งขันน้อยรายอยู่ดีเพราะอุตสาหกรรมเอไอใช้เงินลงทุนสูง การแข่งขันจะผลักดันให้นวัตกรรมเอไอก้าวหน้าเร็วขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของบริษัท 7 นางฟ้าอาจปรับลดลงเนื่องจากกำไรจะลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ฟองสบู่ของราคาหุ้นเกี่ยวกับเอไอจึงมีโอกาสแตกได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอทคอมเมื่อปี พ.ศ. 2543
ภาวการณ์เก็งกำไรเกินควรในหุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนตเมื่อปี พ.ศ. 2540-2543 นั้น เป็นฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นล้นเกินต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทในตลาดหุ้นแนสแดก NasDaq ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด โดยมองข้ามพื้นฐานการลงทุนไป การก่อตัวของฟองสบู่จนถึงการแตกตัวของฟองสบู่ครั้งนั้นใช้เวลา 3 ปี แต่ ฟองสบู่เอไอคงต้องติดตามดูว่าจะใช้เวลานานกว่าหรือไม่
แน่นอนที่สุดว่า เทคโนโลยีเอไอจะทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้น แต่แรงงานทักษะต่ำจะว่างงานมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากไม่มีการออกแบบระบบสวัสดิการเสียใหม่ให้สอดรับกับยุคเอไอ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของนวัตกรรมเอไอจะพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมโลก
ไทยต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อรับความท้าทาย
ไทยในฐานะผู้ซื้อและใช้บริการต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นว่า เราจะพัฒนา ต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีเอไอที่มีอยู่อย่างไร และควรศึกษาความสำเร็จและบทเรียนจากจีน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ื 2568