ดีล M&A ทั่วโลกทรุดหนักในรอบกว่า 20 ปี เซ่นพิษสงครามการค้าสหรัฐ
ดีลซื้อ และควบรวมกิจการทั่วโลกทรุดหนักในรอบกว่า 20 ปี เซ่นพิษสงครามการค้า เดือนเม.ย. มีดีลน้อยสุดหนักกว่าช่วงโควิด และวิกฤติซับไพรม์ นายแบงก์แนะลูกค้าชะลอ M&A - IPO
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างข้อมูลจาก Dealogic ว่า ยอดการทำธุรกรรมควบรวม และซื้อกิจการ (M&A) ทั่วโลกในเดือนเม.ย.2568 ปรับตัวลดลงอย่างหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศวันปลดแอกสหรัฐ เปิดฉากสงครามการค้าโลกเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ที่ผ่านมา
บรรดานายแบงก์ และซีอีโอต่างพากันชะลอการทำดีล M&A หลังจากที่สหรัฐเปิดฉากมาตรการเก็บภาษีกับทั่วโลกครั้งใหญ่ ทำให้ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มีการลงนามข้อตกลง M&A ทั่วโลกน้อยที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปี น้อยกว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดของการระบาดโควิด-19 และวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551-2552
ก่อนหน้านี้ ธนาคารต่างๆ คาดการณ์ว่าปี 2568 จะเป็นปีที่โดดเด่นสำหรับการควบรวม และซื้อกิจการภายใต้การนำของทรัมป์ที่สนับสนุนธุรกิจ แต่ดีลทั่วโลกกลับล้มเหลวไม่เป็นท่าหลังจากทรัมป์ประกาศแผนภาษีจุดชนวนสงครามการค้าโลก โดยมีการทำข้อตกลงทั้งหมดเพียง 2,330 ฉบับในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนที่มีการบันทึกไว้ถึง 34%
เฉพาะในสหรัฐซึ่งเป็นตลาด M&A ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการทำข้อตกลงไปเพียง 555 ฉบับ หรือน้อยที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติซับไพรม์เดือนพ.ค.2552
"วันปลดแอก" (Liberationa Day) ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีกับทุกประเทศ ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกตกต่ำ บรรดาซีอีโอตั้งแต่บริษัท Chime ไปจนถึง StubHub ต่างพากันถอนแผนการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน (IPO) และตั้งรับมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ
ความไม่แน่นอนยังกระตุ้นให้บรรดานายแบงก์ซึ่งเคยมีรายได้มหาศาลจากการทำดีล M&A ให้ลูกค้า ต้องบอกให้ลูกค้าชะลอแผนการควบรวม และซื้อกิจการ รวมถึงการทำ IPO ออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน และสอดคล้องกันมากขึ้นในนโยบายของสหรัฐ
"ผมแนะนำให้ลูกค้ารอก่อน" ลอเรนโซ เพาเลตติ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธนาคารเพื่อการลงทุนที่ Truist Securities กล่าว "บรรดาซีอีโอและซีเอฟโอยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าภาษีจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ดังนั้นจึงควรเก็บเงินสดไว้ในมือก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น"
ตลาด M&A ได้ดีลใหญ่ๆ บางรายการเข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์ในภาพรวมที่เริ่มไม่สู้ดีมาตั้งแต่ต้นปี เช่น ดีลมูลค่า 24,250 ล้านดอลลาร์ของบริษัท Global Payments ที่การเข้าซื้อกิจการบริษัทการประมวลผลบัตร และบริการทำบัญชีเมื่อเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษามูลค่าของกิจกรรม M&A ทั่วโลก ซึ่งลดลงจนแตะระดับ 243,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หรือต่ำกว่ามูลค่ารวมในเดือนมี.ค. ถึงราว 54% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
รอยเตอร์สระบุว่า "อุตสาหกรรมเทคโนโลยี" ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น อัลกอริทึม และซอฟต์แวร์ ยังเป็นภาคส่วนที่ไปได้ดีอยู่ในตลาด M&A เดือนที่แล้ว เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสินค้าทางกายภาพที่เสี่ยงต่อมาตรการภาษี เช่น รถยนต์
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีคิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบ 40% ของดีลมูลค่าเกือบ 600,000 ล้านดอลลาร์ ที่ลงนามในสหรัฐปีนี้ และประเทศนี้ก็คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกิจกรรม M&A ทั่วโลกในแง่มูลค่า
ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ แตกต่างกันไป Citi ระบุว่า ภาคธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม สื่อ บริการ น้ำมัน และก๊าซ และสาธารณูปโภค เป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาษีน้อยกว่า
ในขณะที่บางภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรูปแบบธุรกิจ เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากร “ซึ่งผู้ผลิตไม่ว่าจะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปต่างประเทศ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568