เงินเฟ้อ เมย.ติดลบ 0.22% เหตุราคาน้ำมันร่วง-รัฐตรึงค่าไฟ สนค.จ่อปรับเป้ารอบใหม่
ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย. พลิกกลายเป็นติดลบ 0.22% สนค.เผยเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ชี้เหตุหลักราคาน้ำมันลด รัฐช่วยตรึงค่าไฟ แถมร้อนน้อย ดันพืชผักผลผลิตดี ราคาไม่ขึ้น คาด พ.ค.น่าจะลดต่อเนื่อง เตรียมปรับเป้าเงินเฟ้อรอบใหม่
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2568 ว่า เท่ากับ 100.14 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ลด 0.22% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังจากที่เคยติดลบติดต่อกันในเดือนตุลาคม 2566- มีนาคม 2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง
เงินเฟ้อ 4 เดือนอยู่ที่ 0.75% :
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยมาจากมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งมีการลดลงของราคาผักสดและไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน ทำให้ผลผลิตดี แต่สินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.75%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อที่ลดลง 0.22% มาจากการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.45% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด น้ำมันเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น) และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ) ส่วนสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน ค่าทัศนาจรต่างประเทศ และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี
ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.63% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป)
กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มผลไม้สด (กล้วยน้ำว้า สับปะรด แตงโม มะพร้าวอ่อน) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทรายแดง) และมีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี ผักกาดขาว พริกสด) ไข่ไก่ ส้มเขียวหวาน และไก่ย่าง
“ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเมษายน 2568 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.98% เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคม 2568 ที่สูงขึ้น 0.86% และรวม 4 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.91%”
ชี้ปัจจัยหลัก “น้ำมัน-ค่าไฟ” ลด :
หากเทียบกับเดือนมีนาคม 2568 จะพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายนลดลง 0.21% ตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.67% โดยเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ จากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ และมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เพื่อรองรับการกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมบุรุษ และน้ำยารีดผ้า
ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.48% เมื่อเทียบเดือนที่แล้ว ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร และผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ ผลไม้บางชนิด (มะม่วง แตงโม ฝรั่ง) ผักสดบางชนิด (แตงกวา ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง) ข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า
คาด พ.ค.ลดต่อเป็นเดือนที่ 2 :
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2568 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1.จากราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงทิศทางเดียวกัน
2.ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย 3.ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และ 4.การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปัจจุบันเท่ากับ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรบางชนิดและเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนหน้า เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น
เล็งปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี :
“สนค.จะพิจารณาปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีอีกครั้ง แต่ขอดูตัวเลขเดือนพฤษภาคม 2568 ที่จะประกาศในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2568 ก่อน แล้วจะประกาศตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2568 ใหม่”
ทั้งนี้ กรอบเงินเฟ้อทั้งปี 2568 ที่ตั้งไว้เดิมอยู่ที่ 0.3-1.3% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ 2.3-3.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบคาดว่าอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดการณ์ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2568 จะมีการคาดการณ์ตัวเลขเป้าหมายใหม่อีกครั้ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568