กกร. หวั่นหากไทยโดนภาษีเพิ่ม 36% กระทบส่งออก ฉุด GDP โตเหลือ 0.7-1.4%
กกร. ปรับประมาณการ GDP ไทย ปี 2568 โต 2-2.2% จากผลกระทบภาษีทรัมป์ ชี้หากไทยถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 36% ฉุด GDP โตต่ำเหลือ 0.7-1.4% จี้รัฐลดต้นทุนภายในประเทศช่วยผู้ประกอบการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี คุณภูมินทร์ หะรินสุต รองประธาน สภาหอการค้าไทย และคุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า สงครามการค้ากดดันเศรษฐกิจโลกปี 2568 โตต่ำกว่าคาด โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเติบโตของจีดีพีโลกปี 2568 ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% พร้อมเตือนว่าการกีดกันทางการค้าจะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกเติบโตเพียง 1.7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วง European Crisis เมื่อปี 2554
ทั้งนี้ ประเทศหลักต่างมีสัญญาณลบ ทั้งสหรัฐที่ความเชื่อมั่นต่อทิศทางอุตสาหกรรมลดลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมของจีนมีคำสั่งซื้อลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี สะท้อนถึงความเปราะบางระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอน รวมทั้งเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตในระยะยาว
ขณะที่มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐกดดันภาคการส่งออก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและ SMEs ภาษีศุลกากรที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บจะกระทบสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม หากถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 36% มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐ อาจจะหายไปสะสมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี
นอกจากนี้ ยังเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกจ้างประมาณ 3.7 ล้านคน และ SMEs เกือบ 5 พันราย ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในการปรับตัวต่อภาวะผันผวนที่รุนแรงขึ้น
คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี’68 จะขยายตัวที่ 2.0-2.2% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4-2.9%ปัจจัยหลักจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐ โดยประเมินภายใต้สถานการณ์ที่ไทยถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 10% ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลังยังอยู่ที่ 10% ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง 0.3-0.9% จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5-1.0% ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน แต่ถ้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ในครึ่งปีหลัง จีดีพีปี’68 จะโตเพียง 0.7-1.4% เหตุจากการส่งออกทั้งปีอาจหดตัวได้มากถึง -2%
ทั้งนี้ ปัจจัยลบจากสงครามการค้าสามารถก่อให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดภาษีให้สำเร็จ ประกอบกับยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. สนับสนุนภาครัฐในการดำเนินแนวทางการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์เบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) จากมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) เพื่อช่วยปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศไทยที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ
ซึ่งภาครัฐจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออก มีการใช้ระบบดิจิทัล e-Government เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์สินค้านำเข้าจากการเบี่ยงเบนทางการค้า รวมทั้งมีการปรับกระบวนการ โดยให้ภาครัฐสามารถเริ่มเปิดไต่สวนได้ทันทีหากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถป้องกันผลกระทบได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ กกร.ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิสินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐ
โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ถึงแนวทางการเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทยให้มากขึ้น ซึ่งเห็นชอบร่วมกันว่าในช่วงเข้มงวดนี้ จะให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่จะออกหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังสินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐที่ปัจจุบันกรมการค้าต่างประเทศ มีการประกาศรายการสินค้าเฝ้าระวังแล้ว จำนวน 65 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 รายการ
นอกจากนี้ กกร.มองว่า นอกเหนือจากการที่ไทยจะต้องเร่งเจรจากับสหรัฐในเรื่องการปรับลดกำแพงภาษีแล้ว ยังต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งหากประเทศเหล่านี้สามารถเจรจาขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าได้ต่ำกว่าไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐได้
ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐและจีนได้ส่งสัญญาณที่จะเตรียมการเจรจาเพื่อคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ ก็เป็นสัญญาณบวกต่อการค้าโลก
“เวียดนามตอนนี้ ตัวเลข 46% ไทย 36% ซึ่งเราเป็นคู่แข่งในการสินค้าเดียวกัน ส่งไปประเทศเดียวกัน หากเจรจาแล้วเวียดนามยังสูงกว่าไทย ไทยจะได้เปรียบ ซึ่งคงต้องรอ ดังนั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม เริ่มส่งสัญญาการเจรจาเป็นสัญญาณบวก“ นายเกรียงไกรกล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5-32.7 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตร ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ
“ค่าเงินหลายประเทศอ่อนค่าลง แต่ไทยแข็งค่าขึ้น ตอนนี้อยู่ 32.7 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การแข่งขันของเราสู้ไม่ได้ จะต้องคุยกันว่าจะทำยังไง ปรับค่าเงินให้เหมาะสม แต่การแข็งค่าจะมีผลดีต่อนักลงทุน การนำเข้าภาคพลังงานต่าง ๆ” นายเกรียงไกรกล่าว
ในขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งมีแก้ไขปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูกิจการของกิจการขนาดย่อม (กิจการที่มีหนี้ไม่เกิน 50 ล้านบาท) โดยเพิ่มเติมการฟื้นฟูกิจการโดยเร่งรัดและเพิ่มเติมการฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้บุคคลธรรมดา
ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่จะปรับปรุงดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างและมีบางประเด็นเป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้ในประเทศไทยมาก่อน จึงควรมีการศึกษาผลดีผลเสียของการใช้ระบบดังกล่าว รวมถึงกลไกที่คุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อย่างรอบด้าน
เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาลดความรับผิดของผู้ค้ำประกันลงอันเป็นผลจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบการประกันหนี้ด้วยบุคคล ทำให้ กกร.มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อวินัยทางการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของกิจการ SMEs ซึ่งไม่มีทรัพย์สินมาเป็นประกัน รวมถึงต้นทุนเครดิตของลูกหนี้สูงขึ้น ดังนั้นการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงควรมีการพิจารณาและศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568