เอกชนโอดดอกเบี้ยขึ้นลง SMEs ตายแล้วตายอีก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้แบงก์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกเพื่อคุมเงินเฟ้อ บวกกับมาตรการเข้มงวดการปล่อยกู้กระทบรายเล็กอย่างสาหัส จับตาปี 2567 แบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยตามเฟดยังพอลุ้น วอนรัฐเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ขอให้เร็วที่สุด
วันที่ 8 มกราคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบาย 2.5% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นการทยอยปรับก็ตาม แต่ในมุมของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กอย่าง SMEs ต้องแบกรับภาระต้นทุนของดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์อย่างมาก
ขณะเดียวกันด้วยมาตรการที่เข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำให้ SMEs รวมถึงประชาชนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นอีกส่วนที่น่ากังวลและต้องจับตามองเช่นกัน เพราะแม้จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ มีการบริหารธุรกิจที่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมและการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ต้องล่าช้าออกไปถึง 8 เดือน รายที่มีสัมปทานกับภาครัฐ และที่ออกหุ้นกู้และกำลังจะครบกำหนดชำระ มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทเหล่านี้อาจผิดนัดชำระ และกระทบกันเป็นห่วงโซ่ตามไปด้วย ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องเตรียมความพร้อมรับมือเรื่องนี้
“เอกชนที่อยู่รอดได้ก็จะเป็นรายใหญ่เพราะมีสภาพคล่องยังพอไปได้ ส่วนรายเล็ก SMEs ลำบากและเหนื่อยที่สุด ไม่รอดก็มี ยิ่งเจอแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยก็ตายกันหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่แบงก์เขามีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาทนั้น เพราะช่องหว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำและดอกเบี้ยเงินกู้มันสูง มันเลยต่างกันมาก เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบเข้ามาดู ว่าจะทำอย่างไรให้เอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากตรงนี้น้อยที่สุด”
สำหรับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 เอกชนคาดว่า ธปท.อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากสหรัฐมองว่าเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 8% เหลือ 3-4% แล้ว แม้ว่าจะยังไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องการให้เหลือเพียง 2% ก็ตาม ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีโอกาสที่จะปรับตามเฟด แต่จะรอดูจังหวะที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันรัฐต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผลพวงจากการขึ้นดอกเบี้ยยังกระทบผู้ประกอบการอยู่ยังไม่คลี่คลาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคือเรื่องจำเป็นที่สุดและต้องเร็วที่สุด ก่อนจะกระทบและตายกันไปมากกว่านี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 มกราคม 2567