รู้จัก สัญลักษณ์ Thai SELECT ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไทย
"เศรษฐา" หนุนส่งเสริมการมอบสัญลักษณ์ Thai SELECT การันตีคุณภาพอาหารไทย ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยประเทศไทยมีร้านอาหารและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้ตราสัญลักษณ์ทั้งในและต่างประเทศ จำนวนมากและมารู้จักว่าไทย Thai SELECT คืออะไร
วันที่ 10 มกราคม 2567 รายงานข่าวระบุว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก และพรล่าสุด้อมจะผลักดันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รายได้ให้กับประเทศ ล่าสุดนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงว่า หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ อาหารไทย อีกทั้ง ยังสามารถยกระดับการทูตเชิงอาหารได้อีกด้วย
ดังนั้น รัฐบาลเล็งเห็นโอกาส จึงชูสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อการันตีคุณภาพอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจุดขายด้านซอฟต์พาวเวอร์ และความเป็นไทยผ่านร้านอาหาร และอาหารไทย พร้อมจะสนับสนุน เผยแพร่วัฒนธรรมทางด้านอาหาร และประชาสัมพันธ์เต็มที่
รู้จัก สัญลักษณ์ Thai SELECT :
Thai SELECT เป็นตราสัญลักษณ์ที่ กระทรวงพาณิชย์ มอบให้กับร้านอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป ที่ให้บริการและจำหน่ายอาหารไทยรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย ซึ่งมีมอบให้ร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีเกณฑ์เงื่อนไขในการได้ตราสัญลักษณ์
โดยตราสัญลักษณ์ Thai SELECT แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ Thai SELECT PREMIUM บนพื้นสีทอง Thai SELECT บนพื้นสีแดง และ Thai SELECT UNIQUE บนพื้นสีส้ม
ร้านอาหารที่ได้ตราสัญลักษณ์ :
ร้านอาหารไทยที่ได้ตราสัญลักษณ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามเกณฑ์รูปแบบของร้าน การตกแต่งร้าน คุณภาพของอาหารและการบริการ ดังนี้
1)มอบให้กับร้านอาหารไทย ที่ให้บริการอาหารไทยแท้คุณภาพยอดเยี่ยมมีการตกแต่งร้านสวยงามและมีการบริการที่เป็นเลิศเป็นร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทย
2)มอบให้ร้านอาหารไทยที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานของอาหารไทยมีคุณภาพดีมีการตกแต่งร้านและบริการที่อยู่ในระดับดี
3)มอบให้กับร้านอาหารที่ให้บริการอาหารที่มี รสชาติไทยแต่มีข้อจำกัดในด้านบริการหรือเป็นร้านที่มีขนาดเล็กและ มีความเรียบง่ายให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ
4)มอบให้ร้านอาหารที่มีเมนูอันเป็นอัตลักษณ์ของถิ่นเช่นร้านอาหารไทยภาคใต้ร้านอาหารภาคเหนือและอาหารภาคอีสานเป็นต้น
เกณฑ์ได้ ตรา Thai SELECT :
เกณฑ์ในการตัดสินอยู่ว่า จะได้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT
Thai SELECT PREMIUM จะต้องได้รับคะแนนการประเมิน 90 คะแนนขึ้นไป
Thai SELECT ได้รับคะแนนจากการประเมิน 75-89 คะแนน
Thai SELECT UNIQUE ที่มีมาตรฐานการประเมินเดียวกับ Thai SELECT แต่มีรายการอาหารอันเป็นอัตลักษณ์อยู่ด้วย
โดยเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ประกอบด้วย รสชาติอาหาร 30 คะแนน วัตถุดิบ 20 คะแนน สุขอนามัย 20 คะแนน รายการอาหาร 10 คะแนน การตกแต่งร้านภายนอก/ภายในและบรรยากาศร้าน 10 คะแนน และการบริการ 10 คะแนน
ร้านอาหาร-ผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ได้รับตรา Thai SELECT :
ปัจจุบัน มีร้านอาหาร Thai SELECT ทั่วโลกกว่า 1,523 ร้าน กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับในประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาขยายผลต่อยอดตราสัญลักษณ์ Thai SELELCT ตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT จำนวน 370 ร้านทั่วไทย
ทั้งนี้ หากดูจำนวนร้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ได้รับตรา Thai SELECT โดย ร้านอาหารไทยทั่วโลกที่ได้รับตรา Thai SELECT จำนวนทั้งสิ้น 1,526 ร้าน จากจำนวนร้านอาหารไทยประมาณ 17,478 ร้านทั่วโลก
– แบ่งตามประเภท ดังนี้ Thai SELECT Signature 313 ร้าน Thai SELECT Classic 1,080 ร้าน และ Thai SELECT Casual 133 ร้าน
– แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้ อเมริกาเหนือ 499 ร้าน เอเชียตะวันออก (รวมจีน) 417 ร้าน ยุโรป 322 ร้าน อาเซียน 120 ร้าน โอเชียเนีย 45 ร้าน ตะวันออกกลาง 51 ร้าน เอเชียใต้ 35 ร้าน แอฟริกา 18 ร้าน ละตินอเมริกา 19 ร้าน (ประเทศที่มีร้านมากสุด คือ สหรัฐ 427 ร้าน ญี่ปุ่น 192 ร้าน จีน 125 ร้าน สหราชอาณาจักร 76 ร้าน ตามลำดับ)
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรา Thai SELECT จำนวน 711 ผลิตภัณฑ์ จาก 74 บริษัท
อย่างไรก็ดี กรณีร้านอาหารมีมากกว่า 1 สาขา สิทธิจะครอบคลุมเฉพาะสาขาที่ยื่นสมัครขอรับตราเท่านั้น และการมอบตราสำหรับผลิตภัณฑ์จะมอบให้เป็นรายการผลิตภัณฑ์ หากมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสูตรหรือชื่อรายการสินค้าจะต้องยื่นขอใหม่ โดยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับจะมีอายุ 3 ปี ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอต่ออายุก่อนวันหมดอายุ
Thai SELECT ในประเทศ :
ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้ภายใต้กับร้านอาหารในประเทศ ภายใต้สโลแกน “อาหารไทย ต้อง Thai SELECT” พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลัง Soft Power อาหารไทย และเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยว
1) เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานร้านอาหารไทยในประเทศไทย
2) เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาสัมผัสลิ้มลองการกินอยู่ในวิถีไทย ด้วยกระแส Soft Power อาหารไทย
3) เพื่อสร้างรายได้ ขยายโอกาสทางการตลาดแก่ร้านอาหารไทย
TOP 5 จำนวนร้าน Thai SELECT
(1) กรุงเทพฯ (59 ร้าน) (2) เชียงใหม่/กระบี่ (16 ร้าน) (3) พระนครศรีอยุธยา (13 ร้าน)
(4) ภูเก็ต/ขอนแก่น (11 ร้าน) (5) นนทบุรี พิษณุโลก (10 ร้าน)
ภาคกลาง 140 ร้าน (กรุงเทพฯ 59) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 69 ร้าน ภาคเหนือ 68 ร้าน ภาคใต้ 67 ร้าน ภาคตะวันออก 26 ร้าน
ทั้งนี้ ไม่มี Thai SELECT 6 จังหวัด (พะเยา/แม่ฮ่องสอน, สุรินทร์/หนองบัวลำภู, ปัตตานี/สตูล)
อย่างไรก็ดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หน่วยงานที่ดูแลและคัดเลือกได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาและสร้างโอกาสให้กับร้านอาหารไทยทั่วประเทศมากกว่า 1,500 ราย ทำให้ร้านอาหารไทยมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทั้งสินค้าและบริการที่ดีขึ้น
ร้านอาหารไทยได้รับการโปรโมตการันตีด้วยตราสัญลักษณ์ “Thai SELECT” ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ มากมายไปยังผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ และข้อมูลจากทางร้านพบว่า ทำให้ร้านมีชื่อเสียงมากขึ้น มีลูกค้ามากขึ้นติดตามมาใช้บริการเนื่องจากร้านได้ Thai SELECT ทำให้ร้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
Thai SELECT ในต่างประเทศ :
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนร้านอาหารไทยทั่วโลกประมาณ 5,000 ร้าน และต่อมาได้มีการมอบตรา Thai SELECT เพื่อรับรองร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยร้านอาหารที่จะได้รับตราจะต้องบริการอาหารไทยมากกว่าอาหารชาติอื่นตามสัดส่วนที่กำหนด คือมีบริการอาหารไทยอย่างน้อย 60% ในรายการอาหารทั้งหมดในร้าน
มีการใช้วัตถุดิบไทย มีรสชาติไทย ถูกสุขอนามัย มีการนำเสนออาหาร และตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศที่สื่อถึงความเป็นไทยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการตระหนักรับรู้ต่ออาหารไทย สร้างกระแสความต้องการอาหารและสินค้าอาหารของไทย รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ขณะเดียวกัน กรมก็ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ อาทิ การพัฒนาพ่อครัวแม่ครัวไทยในต่างประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับร้าน ซึ่งกรมได้ปรับแผนแนวทางการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 มกราคม 2567