ไทยเป็นเจ้าภาพเจรจา FTA ไทย-อียู รอบ 2 เปิดฉาก 22 ม.ค. 2567
การเจรจา FTA ไทย-อียู เริ่มแล้วรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคมนี้ โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมประชุมกลุ่มย่อย 19 คณะ เพื่อผลักดันตามเป้าหมาย ผลการศึกษาชี้ คาดว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัว 1.28% ต่อปี
วันที่ 18 มกราคม 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้กรมมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (อียู) (เอฟทีเอไทย-อียู) ในรอบที่ 2 กรมเป็นเจ้าภาพจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 มกราคมนี้ ที่กรุงเทพมหานคร และคาดจะมีเจรจาอีก 2-3 รอบในปีนี้ โดยไทยได้เปิดเจรจารอบแรกไปเมื่อวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เป็นกรอบที่กรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นเป้าหมายสำคัญที่เอกชนเองก็ต้องการให้ข้อตกลงนี้มีผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุนระหว่างไทยและอียู
ทั้งนี้ ทีมเจรจาของไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ
ประชุมระดับหัวหน้าคณะ :
การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) ระดับหัวหน้าคณะผู้แทนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ เพื่อหารือในรายละเอียดเรื่องต่าง ๆ และผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลตามเป้าหมายที่จะสรุปผลภายใน 2 ปี
สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย 19 คณะ ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7.การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9.ทรัพย์สินทางปัญญา
10.การแข่งขันและการอุดหนุน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14.รัฐวิสาหกิจ 15.พลังงานและวัตถุดิบ 16.ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17.ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18.การระงับข้อพิพาท และ 19.บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น
ผลศึกษา FTA ไทย-อียู :
สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ประเมินประโยชน์และผลกระทบเบื้องต้นของการจัดทำ FTA ไทย-อียู คาดว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัว 1.28% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.83% ต่อปี และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81% ต่อปี
รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และการจ้างงานของไทย ตลอดจนสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู รวมทั้งยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เป็นต้น และหลังการเจรจา ระหว่างการเจรจา กรมจะหารือกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นระยะ เพื่อให้การเจรจาเป็นไปด้วยความรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด
สินค้าส่งออกสำคัญ :
ไทยส่งออกสินค้าสำคัญไปตลาดอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง
ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
สมาชิกอียู :
สหภาพยุโรป หรืออียู มี 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย ซึ่งหากบรรลุข้อตกลงจัดทำเอฟทีเอสำเร็จจะเป็นเอฟทีเอที่มีจำนวนสมาชิกคู่สัญญามากที่สุดของไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 มกราคม 2567