ประเทศไหนที่ความมั่งคั่ง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 10 ปีข้างหน้า?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มาแรงจริง ๆ ในยุคนี้ และดูเหมือนว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในทศวรรษข้างหน้าอีกด้วย ในขณะที่เวียดนามจะยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก
จากรายงานของ New World Wealth และ Henley & Partners คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ความมั่งคั่งของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 125% ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุด เมื่อดูในแง่ของ GDP ต่อหัว และจำนวนมหาเศรษฐีในแต่ละประเทศ
และประเทศที่ความมั่งคั่งจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นที่สุดเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เวียดนาม” ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งในสายเทคโนโลยี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และสิ่งทอ
ทำไมเวียดนามถึงมีแนวโน้มมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 10 ปีข้างหน้า ?
ถ้ายังจำกันได้ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน GDP ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่เพียง 2,190 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว คืออยู่ที่ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลของธนาคารโลก
และตอนนี้เวียดนามเป็นที่อยู่อาศัยของเศรษฐีกว่า 19,400 คน และมหาเศรษฐี 58 คน เวียดนามเองถูกมองว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้บริษัทหลาย ๆ แห่งก็มีแรงจูงใจที่จะไปตั้งฐานการดำเนินงานอยู่ในเวียดนาม
แม้ว่า GDP เวียดนามในปี 2023 เติบโตช้าลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.05% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งโตอยู่ที่ 8.02% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนลง และการลงทุนของภาครัฐที่หยุดชะงัก
ถึงอย่างนั้น หากมองไปข้างหน้า เวียดนามถือเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เพราะมีพรมแดนติดต่อกับจีน และกำลังจะอยู่ใกล้กับเส้นทางการค้าทางทะเลในแถบนั้น อีกทั้งยังมีค่าแรงที่ต่ำ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก ทำให้เวียดนามกลายเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ
แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ?
นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้หลาย ๆ บริษัทตัดสินใจที่จะกระจายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ซึ่งอยู่ในแผน China Plus One เห็นได้จากที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2023 FDI ที่มายังเวียดนามเพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อนหน้า จนมาอยู่ที่ 36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม คนเวียดนามนับล้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การเติบโตของเวียดนามนั้นได้รับแรงผลักดันมาจากพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งได้รับแรงหนุนจากคลื่น FDI ทั้ง 3 ระลอก ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังอยู่ในระลอกที่ 4
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคบางอย่างที่เปรียบเหมือนลมปะทะที่ชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม
นั่นก็คือแรงงานของประเทศที่ยังจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานสำหรับงานที่จำเป็นต้องใช้ทักษะและมีความซับซ้อน
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างยืดเยื้อยาวนาน อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกของเวียดนามด้วย
จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ว่าในอนาคตเวียดนามก็จะสามารถรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2567