จีนตั้งเป้าจีดีพีปี67 โต 5% เพิ่มงบฯกลาโหมเท่าปีที่แล้ว
การฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ระบาดช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาด ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังถูกฉุดรั้งจากภาวะตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์และการส่งออก
การประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC-Chinese People's Political Consultative Conference) ชุดที่ 14 เปิดฉากขึ้นแล้วที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันจันทร์ (4 มี.ค.)และจะปิดฉากลงในเช้าวันที่ 10 มี.ค. รวมเวลาการประชุม 6 วัน โดยที่ประชุมมีกำหนดการสำคัญคือ การรับฟัง พิจารณา รายงานผลงานของรัฐบาล รายงานการเสนอญัตติ และลงคะแนนมติทางการเมืองในเรื่องต่างๆ
นอกจากนี้ CPPCC ยังจะพิจารณาทบทวนผลการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้คำแนะนำเพื่อการสร้างความทันสมัยแก่จีน โดย “เศรษฐกิจ” ถือเป็นประเด็นสำคัญในการให้คำปรึกษา ส่วนการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC-National People's Congress)จะเปิดฉากขึ้นในช่วงเช้าวันอังคารที่ 5 มี.ค. และปิดฉากลงในบ่ายวันที่ 11 มี.ค. รวมเวลาการประชุม 7 วัน
ในส่วนของการประชุม NPC มีวาระสำคัญ ได้แก่ การพิจารณารายงานผลงานของรัฐบาล พิจารณาผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ตลอดปี 2023 และร่างแผนพัฒนาฯ ปี 2024 รวมถึงงบประมาณ และการแก้ไข/เพิ่มเติมกฎหมาย
ปีนี้ ที่ประชุมสองสภาซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 2,000 คน จะให้น้ำหนักความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากปี 2024 เป็นปีสำคัญที่จีนจะต้องทำให้เป้าหมายและพันธกิจของแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) เห็นผลเป็นรูปธรรม และรัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ก็เตรียมยื่นรายงานผลงานของรัฐบาลให้แก่ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เป็นครั้งแรก
ในการประชุมวันอังคาร (5มี.ค.)รัฐบาลจีน เปิดเผยรายงานการทำงานของรัฐบาลโดยระบุว่า จีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไว้ที่ประมาณ 5% สำหรับปี 2567
สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.2% สอดคล้องกับเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่รัฐบาลจีนกำหนดเอาไว้ที่ประมาณ 5% แต่การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมนั้นช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ขณะเดียวกัน การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังถูกฉุดรั้งจากภาวะตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์และการส่งออกด้วย
ด้านสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เป้าหมายจีดีพีสำหรับปี 2567 สอดคล้องกับการคาดการณ์ส่วนใหญ่
ขณะเดียวกัน จีนได้กำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณทางการคลังเอาไว้ที่ 3% ของจีดีพีสำหรับปี 2567 ซึ่งน้อยกว่าระดับ 3.8% ในปี 2566 ทั้งนี้ ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว จีนได้เปิดเผยแผนออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันอุทกภัย โดยถูกรวมอยู่ในงบประมาณปีที่ผ่านมา ทำให้เป้าหมายขาดดุลปี 2566 เพิ่มขึ้นสู่ประมาณ 3.8% ของจีดีพีจากเดิมอยู่ที่ 3%
รายงานระบุด้วยว่า จีนกำหนดเป้าหมายอัตราว่างงานในเขตเมืองไว้ที่ประมาณ 5.5% รวมถึงสร้างงานใหม่ในเขตเมือง 12 ล้านตำแหน่ง และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ซึ่งเป้าหมายสำหรับปี 2567 นั้นเหมือนกับเป้าหมายที่กำหนดไว้เมื่อปี 2566
ในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จีนมีอัตราว่างงานในเขตเมืองที่ 5.2% และสร้างงานได้ 12.44 ล้านตำแหน่ง แต่ดัชนี CPI ขยับขึ้นเพียง 0.2% ท่ามกลางอุปสงค์ที่ซบเซา
นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม 7.2% สู่ระดับ 1.67 ล้านล้านหยวนในปี 2567
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า การตั้งเป้าเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม 7.2% ในปี 2567 เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มงบกลาโหมมานานต่อเนื่องหลายปี โดยมีการเพิ่มงบกลาโหม 7.2% ในปี 2566, 7.1% ในปี 2565, 6.8% ในปี 2564, 6.6% ในปี 2563 และ 7.5% ในปี 2562
งบกลาโหมอย่างเป็นทางการของจีนสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยเป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้การประมาณการอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมที่แท้จริงของจีนอาจสูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการก็ตาม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า การประกาศงบกลาโหมของจีนในปีนี้มีขึ้นหลังจากนายพลหลายรายของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนถูกปลดออกจากตำแหน่ง รวมถึงพล.อ.หลี่ ซ่างฝู อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สั่งกวาดล้างการทุจริตในวงกว้างตลอดปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จีนยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไต้หวัน โดยปธน.สี จิ้นผิง ระบุว่า การรวมชาติเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกตัดสินในปี 2559 ว่าการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่จำนวนมากของทะเลจีนใต้นั้นไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว
ตอนนี้ทั่วโลกจับตามองเป็นพิเศษว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และบรรดาบุคคลในระดับบริหาร จะส่งสัญญาณใดๆ บ้าง เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม และจะมีทางออกอย่างไรสำหรับความท้าทายต่างๆที่จีนกำลังเผชิญอยู่
นอกจากนี้ การประชุมสองสภาในปีนี้ ยังมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าเป็นการประชุมในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสภาประชาชนแห่งชาติ และครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน
“การประชุมสองสภาเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอประชาธิปไตยของประชาชนทั้งกระบวนการ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายและที่ปรึกษานโยบายชั้นนำของจีนให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยพยายามทำความคาดหวังของประชาชนให้เป็นจริง” จาง อี้อู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หนึ่งในที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งชาติของจีน ให้ความเห็น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 มีนาคม 2567