เอกชน หนุน "เศรษฐา" ใช้โอกาสไป ฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น เร่ง FTA ไทย-อียู
สภาหอการค้าไทย เผยการเดินทางเยือนต่างประเทศฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น ของ "เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี" สนับสนุน ใช้โอกาสนี้เดินหน้าเจรจา "เอฟทีเอไทย-อียู" เจรจาสำเร็จ ช่วยสร้างโอกาสการค้า การลงทุน ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15-24 พฤษภาคม 2567
โดยสภาหอการค้าไทย เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีใช้โอกาสนี้ ในการเจรจาเร่งรัดการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของไทย หรือ “ครัวของโลก” ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่มห่มและสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ พลาสติก เป็นต้น
อีกทั้งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยถูกอียูตัดสิทธิพิเศษ GSP มาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้การค้าการลงทุนของไทยในอียูตกต่ำอย่างมาก สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้า หากการเจรจาครั้งนี้บรรลุข้อตกลงและประสบความสำเร็จ จะทำให้การค้าการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยอียูเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก ประกอบด้วย 27 ประเทศ ประชากรรวมกันกว่า 448 ล้านคน นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอียูมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ค้าปลีก เกษตรและอาหารในขณะเดียวกัน สามารถดึงดูดนักลงทุนอียูเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น อาทิ การขนส่งทางทะเล การเงิน การประกันภัยธุรกิจพลังงานสะอาด การศึกษา และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
“สภาหอการค้ายินดีสนับสนุนในการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้า การลงทุน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา และการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย”
ทั้งนี้ ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพในกติกาสากลเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งการปกป้องสิทธิแรงงาน ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี สภาหอการค้าไทย หวังที่จะให้การเจรจาประสบความสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียู โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย จึงขอเชิญชวนอียูเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ระหว่างการเยือนอิตาลีของนายกรัฐมนตรี และสภาหอการค้า ยังมีการจัดงาน Thai-Italian Business Forum ขึ้น ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ UNIONCAMERE กรุงโรม ร่วมกับ UNIONCAMERE (หอการค้าอิตาลี) และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-อิตาลี โดยเฉพาะในด้านอาหาร แฟชั่น (ผ้าไหม) สินค้าไลฟ์สไตล์ (เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์)
พร้อมทั้งมีพิธีลงนาม MOU ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับ UNIONCAMERE เพื่อกระชับและยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างภาคเอกชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs และเกษตรกรไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567