กูเกิลแพ้คดีผูกขาดโฆษณา ศาลอียูปรับอ่วม 9.1 หมื่นล้าน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน กูเกิลแพ้คดีการผูกขาดที่ผู้ซื้อจะได้เห็นรายการแนะนำสินค้าที่เฉพาะเจาะจงของกูเกิลเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปปฏิเสธการอุทธรณ์ของกูเกิล ทำให้ทางบริษัทต้องจ่ายค่าปรับมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9.18 หมื่นล้านบาท ต่อคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของกลุ่มประเทศ 27 ประเทศ
ถ้อยแถลงของศาลระบุว่า “จากการตัดสินคดีในวันนี้ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปไม่รับที่จะให้มีการอุทธรณ์ และยึดถือการตัดสินใจของศาล” ขณะที่กูเกิลออกแถลงว่า “กูเกิลรู้สึกผิดหวังในคำตัดสินของศาล ซึ่งใช้ข้อเท็จจริงบางส่วนมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น”
เมื่อปี 2017 กูเกิลถูกกล่าวหาว่าทางบริษัทได้ชี้นำให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไปใช้บริการ Google Shopping ซึ่งส่งผลเสียต่อคู่แข่งทางการค้า โดยคดีนี้เป็นหนึ่งในคดีที่ทำให้กูเกิลต้องเสียค่าปรับหลายพันล้านยูโร หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปเข้มงวดในการจัดการกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กูเกิลยืนยันว่า หลังจากการฟ้องร้องเมื่อปี 2017 กูเกิลพยายามส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และเริ่มการจัดประมูลสำหรับการจัดอันดับการค้นหาสินค้ากับบริษัทอื่นๆ กูเกิลระบุว่า วิธีนี้ช่วยทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมมานานกว่า 7 ปี โดยได้แสดงเว็บไซต์ช่องทางบริการสินค้าอื่นๆ ให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าชมหลายพันครั้ง ทำให้มีการซื้อขายสินค้ามากกว่า 800 รายการ
องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคยุโรป (BEUC) ชื่นชมในคำตัดสินของศาล โดยกล่าวว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายการแข่งขันยังคงมีความสำคัญสำหรับการซื้อของออนไลน์ ที่ผ่านมากูเกิลทำร้ายผู้ซื้อสินค้าชาวยุโรป เพราะทำให้พวกเขาไม่สามารถเห็นช่องทางการซื้อสินค้าอื่นๆ ที่อาจะมีราคาที่ถูกกว่า
นอกจากนี้ กูเกิลยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีการผูกขาดอีก 2 คดี ต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการ Android และแพลตฟอร์มโฆษณา AdSense อีกทั้งกูเกิลยังเผชิญข้อกล่าวหาที่สหรัฐและสหราชอาณาจักรในเรื่องการผูกขาดการค้าเช่นกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 10 กันยายน 2567