สินค้าราคาถูกจากจีน กำลังก่อวิกฤตในเอเชีย
นักวิเคราะห์ในแวดวงการค้าและเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ขณะที่สินค้าราคาถูกจากจีนกำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากประเทศตะวันตก ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศจีนเองหดตัวลงอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตล้นเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก
คำถามก็คือ เมื่อถูกโลกตะวันตกตั้งกำแพงภาษีปิดกั้น และการบริโภคภายในประเทศหดตัว จีนจะส่งออกผลผลิตส่วนเกินเหล่านี้ไปที่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นกับโรงงานผลิตของจีนเอง
นักสังเกตการณ์เหล่านี้เชื่อว่า คำตอบก็คือส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จนกลายเป็นปัญหาขึ้นในหลายประเทศแล้วในเวลานี้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสภาพของปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสินค้าในหมวดอื่น ๆ เป็น 200% ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
หรือก่อนหน้านั้น ทางการชิลีจำเป็นต้องงัดมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดมาใช้กับเหล็กที่นำเข้าจากจีน แล้วทำให้เพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกและบราซิลนำเอามาตรการแบบเดียวกันมาใช้
ในขณะที่ประเทศอย่างอินเดีย ประกาศใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดกับสินค้าจากจีนออกมาเป็นชุด ๆ มีแม้กระทั่งที่อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมด้วยอีกต่างหาก
หรือแม้แต่ในกรณีของไทยเอง ที่ถึงกับต้องตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นมาใหม่ เพื่อตรวจสอบหาลู่ทางจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีนโดยเฉพาะเป็นต้น
หลายคนอาจคิดว่า แต่เดิมก็เคยมีการนำมาตรการทำนองนี้มาใช้กันอยู่บ้างเป็นครั้งคราว สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็ไม่น่าจะแปลกใหม่แต่อย่างใด
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวก่อนหน้านี้ แต่เดิมปรากฏการณ์อย่างเช่นการต่อต้านการทุ่มตลาดนั้น มักเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น
แต่คราวนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับหมวดสินค้าหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น ในแต่ละสินค้ายังมีปริมาณมหาศาลอีกด้วย
ข้อเท็จจริงก็คือ ตัวเลขการส่งออกของจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่พุ่งพรวดขึ้นสูงถึง 309,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นยอดการส่งออกต่อเดือนสูงสุดในรอบ 2 ปี
ในขณะที่ วี. อนันธา นาเกสวารัน ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “สินค้าจากจีนราคาถูกเอามาก ๆ จนไม่ว่าจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราใดก็ตาม ไม่สามารถลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของมันลงได้เลย”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเป็นปัญหามากเป็นพิเศษกับประเทศที่พึ่งพาการค้าเป็นหลักในเอเชีย เพราะจำเดิมต้องพึ่งพาจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของตน และจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากจีนเข้ามาเพื่อผลิตในโรงงานของตน
ตัวอย่างของประเทศเหล่านี้ก็คือ ประเทศอย่างมาเลเซียและไทยซึ่งถูกระบุว่าจะเปราะบางเป็นพิเศษ เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตของจีนมีความเหนือกว่าในแทบทุก ๆ ด้าน
โซนัล วาร์มา นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระเชื่อว่า หลายประเทศในเอเชียกำลังตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์นี้ “สินค้านำเข้าจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตของหลายประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ในสภาพกลวงเปล่าไม่เหลืออะไรเลยก็เป็นได้”
นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่า ผลสะเทือนจากกรณีนี้อาจลึกซึ้งกว่าที่คาดคิดกัน เพราะการที่อุตสาหกรรมการผลิตในท้องถิ่นถูกแแทนที่ด้วยสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน อาจทำให้การดิ้นหนีจากสิ่งที่เรียกกันว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” ของประเทศนั้น ๆ เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้นไปอีก
นักวิชาการและนักวิเคราะห์เหล่านี้เตือนว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะยำแย่มากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับตะวันตกรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้
จะรับมือ จะป้องกันอย่างไรก็ตาม ก็คงต้องลงมือทำกันตั้งแต่ตอนนี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 กันยายน 2567