สมาพันธ์ SME ปลื้ม กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% สัญญาณบวกหนุนเศรษฐกิจฐานราก
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความชื่นชมต่อมติ (กนง.) ชี้มติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็นสัญญาณบวกสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมแนะการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุน
“เอสเอ็มอี” เปรียบเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ วลีที่กล่าวกันจนติดปาก แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ใต้พรมกับการแบกความหวังไว้บนบ่าของผู้ประกอบการเอมเอ็มอี หนีไม่พ้นการเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” ที่ต้องแบก “ภาระหนี้สิน” ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนตัวเล็ก
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวชื่นชมมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายแสงชัยยังคงเรียกร้องให้ กนง. พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
"การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25 ในครั้งนี้ยังไม่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากนัก อาจต้องพิจารณาลดลงเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป และจากการที่ FED ลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ลงร้อยละ 0.50 มาที่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะลดลงอีก 0.5% จากสถานการณ์ตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแรงและอัตราเงินมีสัญญาณการชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน"
พร้อมเปิดเผยว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุน และการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอียังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี นายแสงชัย แนะ ธปท. และ รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมร่วมกันเชิงรุกในการรับมือฉากทัศน์เศรษฐกิจและสังคมโลกที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง เวลาไม่เคยรอคอยเราและโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ถึงเวลาเปลี่ยนพลิกโฉมประเทศไทย”
ดอกเบี้ยลด 0.25% ช่วยบรรเทาภาระ แต่ยังมีความเสี่ยงรอบด้าน :
ภัยพิบัติธรรมชาติที่ส่งผลภาระหนี้เพิ่มของประชาชน :
ต้องวางแผนป้องกันลดผลกระทบระยะยาว มีระบบฐานข้อมูลที่เพียงพอในการพยากรณ์ที่แม่นยำล่วงหน้า การลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการป้องกันภัยพิบัติโดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการร่วมกันบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ
สงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงเพิ่มขึ้น :
และไม่มีท่าทีจบลงในเร็ววัน ที่ส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการ ความมั่นคงทางพลังงาน ความเชื่อมั่นการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ เราควรเน้น “เศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง” ให้มากที่สุด ลดการพึ่งพาต่างประเทศ มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการ เกษตรกรไทย ผลิตและใช้แทนการนำเข้า
เศรษฐกิจและหนี้สินที่เป็นมะเร็งร้ายทางเศรษฐกิจ :
ประเทศติดกับดักความยากจนที่ต้องมีการทบทวนการกระจายโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้ลืมตาอ้าปาก ลดวงจรสร้างความร่ำรวยบนซากศพประชาชน ผู้ประกอบการเปราะบาง เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มเปราะบางร่วมกับการยกระดับขีดความสามารถให้เกิดความยั่งยืน “ไม่เน้นแจกปลา แต่ให้เครื่องมือ เทคนิคทักษะการจับปลา” สิ่งสำคัญ คือ “ยกระดับทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถเกษตรกร เอสเอ็มอี และแรงงานอย่างเป็นระบบ“
ปัญหาสังคมเสื่อมศรัทธาผู้บังคับใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ :
ปัญหาการพนันออนไลน์ ยาเสพติดแพร่ระบาด การทุจริตคอร์รัปชั่นที่กำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมอันเป็นธรรมชาติ และธรรมดาของประเทศไทยที่ยอมรับกันได้ ปัญหาสังคมสูงวัยที่ยังไม่เตรียมพร้อมรองรับอนาคตที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แถมด้วยความยากจนและเป็นหนี้จนแก่ตาย
กับดักเทคโนโลยีและ AI :
ที่จะเป็นเส้นแบ่งกั้นกันประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึง ตามไม่ทัน ธุรกิจติดกับดักเติบโตไม่ได้ และรู้ไม่เท่าทันถูกหลอกลวงสูญเสียเงินทอง “บ่มเพาะพลเมืองดิจิทัลตอบโจทย์ Thailand 4.0” รวมถึงปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขที่ต้องไม่ประมาทและมีแผนรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
"เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน" นายแสงชัยกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 ตุลาคม 2567