ดุลยภาพดุลพินิจ : ทำไมประเทศไทยจึงแทบจะรั้งท้ายในอาเซียน!
หลังจากเลือกตั้งเมื่อปี 2566 แล้ว คนไทยก็ถูกปลุกให้ตื่นจากโลกแห่งความฝันโดยข่าวสารและสถานการณ์เศรษฐกิจรอบตัวที่ถดถอยลงไปเรื่อยๆ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมากกว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านั้นคนไทยได้รับข่าวสารด้านเดียวจนคิดว่าประเทศนี้เศรษฐกิจดีมีความสุข ซึ่งคงเป็นจริงสำหรับบางกลุ่ม แต่สำหรับคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะรากหญ้า ความเป็นอยู่นั้นยากแค้นขึ้นทุกที
หลายคนชี้นิ้วไปที่สังคมสูงวัยว่าเป็นสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยชะลอ บางคนก็ชี้ให้เห็นว่าขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยที่ไม่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ แม้แต่ข้าวไทยก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่การผลิต แต่วันนี้ผู้เขียนอยากจะเสนอให้ลองพิจารณาอีกสาเหตุหนึ่งคือ กลไกบริหารราชการแผ่นดินของไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปไม่ทันโลก
ลองเปรียบเทียบคะแนนความสามารถของรัฐ เราจะพบว่าคะแนนของประเทศไทยอยู่เหนือพม่าเท่านั้น และต่ำกว่าค่ากลางของโลก ส่วนคุณภาพการให้การศึกษานั้นคะแนนการสอบ PISA ของเด็กไทย ต่ำกว่าเวียดนามและมาเลเซีย แถมมีแนวโน้มลดลง
TDRI ยังเคยชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้ข้อมูลของ World Economic Forum ว่ารัฐบาลไทยมีขีดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคและสาธารณสุขอยู่ในระดับสูง มีคะแนนเกินกว่าร้อยละ 90 ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคม เช่น การสร้างทักษะแรงงาน เราได้คะแนนเพียงร้อยละ 62 การดูแลสิ่งแวดล้อม เราได้ร้อยละ 45 แต่พอมาถึงเรื่องการพัฒนาในเชิงรุก เช่น นวัตกรรม เราได้คะแนนเพียงร้อยละ 44 และความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน เราได้คะแนนเพียงร้อยละ 14 ในภาพรวมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราได้คะแนนแค่ร้อยละ 68 เท่านั้น คนไทยในอนาคตจะไปแข่งขันกับคนชาติอื่นในอาเซียนได้อย่างไร
ลองมาดูคะแนนด้านความยุติธรรมของไทยบ้าง
ประเทศไทยแทบจะรั้งท้ายในทุกเรื่อง ตั้งแต่หลักนิติธรรม ภาระอันเกิดจากการควบคุมกำกับของรัฐ กฎระเบียบของรัฐบาลและข้อกำหนดการบริการ เสถียรภาพของนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อถือได้ของตำรวจเราได้ลำดับที่ 108 จากทั้งหมด 119 ประเทศ!!!
เมื่อมองไปข้างหน้า Pricewaterhouse Coopers (PwC) พยากรณ์ด้วยว่าเศรษฐกิจไทยจะตกลำดับจากที่ 20 ในปี 2559 ไปเป็นลำดับที่ 22 ในปี 2573 และร่วงไปเป็นลำดับที่ 25 ในปี 2593 โดยทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็จะแซงหน้า ทิ้งไทยไว้เบื้องหลัง
หากวิธีคิดของรัฐไทยยังเป็นเช่นในเวลานี้ มีแต่ประชานิยมแบบลดแหลกแจกแถม ไม่มีพลวัตของกลยุทธ์การพัฒนาใดๆ รัฐบาลใหม่ก็ยังใช้ยุทธศาสตร์ชาติของเก่าที่ล้าสมัยแถมยังเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นกฎหมายซึ่งเปรียบเสมือนกรงเหล็กมาครอบมนุษย์ที่มีความคิดและจินตนาการ ยิ่งไปกว่านั้น คอร์รัปชั่นที่ปรากฏเป็นข่าวทุกหย่อมหญ้าก็ล้วนจับมือใครดมไม่ได้ หน่วยงานของรัฐเป็นรัฐพาณิชย์ที่ขายทุกอย่างรวมทั้งข้อมูล แม้แต่ข้อมูลเพื่อการวิจัย การศึกษา แม้ในมหาวิทยาลัยของรัฐก็ถ้าจ่ายครบก็จบแน่ การหาเงินกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัย เราก็คงมีหวังจะรั้งท้ายอาเซียนจริงๆ นั่นแหล่ะ
นักวิชาการหลายยุคหลายสมัยได้พยายามค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จนานาชาติ โดยใช้ข้อมูลวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ และเสนอว่าตัวช่วยที่สร้างความสำเร็จอาจเป็นที่ตั้ง ภูมิอากาศ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งออก นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี แต่ที่น่าสนใจคืองานเขียนของอาเซโมกลูและโรบินสัน ซึ่งเป็นสองในสามของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ ทั้ง 2 ท่านได้เขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ Why Nations Fail ยืนยันว่าที่มาของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ศึกษามาจากความล้มเหลวเชิงสถาบันของสังคมและการเมือง ประเทศที่ล้มเหลวมักใช้นโยบายที่ขูดรีดและกีดกั้น (extractive and exclusive) ที่สร้างความได้เปรียบให้แก่กลุ่มผู้มีอำนาจและกีดกันประชาชนจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมือง น่าเสียดายว่าหนังสือ
เล่มนี้ไม่ได้บรรจุประเทศไทยไว้ในกรณีศึกษา
ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำอีกทีให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีได้ไม่ใช่เพราะมีนโยบายเศรษฐกิจที่ดีเท่านั้น แต่สังคมและการเมืองของประเทศก็ต้องดีด้วย บ้านเมืองต้องมีความยุติธรรม ดูตัวอย่างคดีฉ้อโกงสาธารณชนล่าสุด บ้านเมืองมีแต่เทวดาที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง แล้วเศรษฐกิจจะไปต่อได้อย่างไร?
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567