โพลหอการค้าชี้ปีใหม่ 2568 คึกคัก เงินสะพัด 109,313 ล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คาดเงินสะพัด 109,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2568 สำรวจระหว่างวันที่ 16 ถึง 21 ธันวาคม 2561 จำนวน 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าปีใหม่ปี 2568 นี้ถือว่าคึกคักและคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 109,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ที่เริ่มฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณการซื้อสินค้าที่มีจำนวนเท่ากับปีก่อน และยังมองเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเริ่มฟื้นในไตรมาส 1-2 ของปีหน้า แต่ยังมีจุดสำคัญที่จะมีผลกระทบ คือ ภาพของปัญหาการเมืองยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 หากมีปัญหารัฐบาลยุบสภา จะทำให้มีผลต่อการพิจารณางบประมาณประจำปี 2569 ที่อยู่ในช่วงจะการพิจารณาในวาระ 3 หากไม่ผ่านจะทำให้มีปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ
แต่หากไทยเศรษฐกิจไทยฟื้นในช่วงไตรมาส 2 หรือประมาณเดือนตุลาคม 2568 ไทยอาจจะต้องเพิ่มการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% และเป็นแบบทะยอยขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีคนเสียภาษีในระบบเพียง 4 ล้านคน และไทยมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งรายได้จากการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องลดลง เพื่อดึงดูดการลงทุน ที่จะไหลเข้ามาจากสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ในขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ พบว่าประชาชนมีแผนการใช้จ่ายเพื่อตนเองในช่วงปีใหม่ เช่น สังสรรค์ จัดเลี้ยง ทำบุญทางศาสนา ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า และการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่น
ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่พบประชาชนมีแผนการนำเงินไปใช้จ่าย 2 ส่วนคือ
1)ใช้เพื่อการท่องเที่ยว รวม 51,472 ล้านบาท โดยมีแผนเดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศ 5,475 ล้านบาท และเที่ยวในประเทศ 45,997 ล้านบาทและ
2)ใช้ทำกิจกรรมอื่น ๆ 57,841 เช่น ซื้อสินค้าคงทน เลี้ยงสังสรรค์ ทำบุญ และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ 26.5% ซื้อคือกระเช้าของขวัญ รองลงมา คือใช้เพื่อการจัดเลี้ยงสังสรรค์ แจกเงินสด และซื้อสุรา เป็นต้น
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายในช่วงปีใหม่จากการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 47% นำเงินเดือนและรายได้ปกติมาใช้ รองลงมาคือเงินออม ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าในปีนี้สัดส่วนการนำเงินออมมาใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นจาก 37.4% เป็น 45.6% สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เงินเดือนไม่พอใช้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 ธันวาคม 2567