เอกชนห่วงสินค้าแพงแซงค่าแรงขั้นต่ำ กระทุ้งรัฐดูแลเงินในกระเป๋าผู้บริโภค
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อที่จะซื้อใจ และโกยคะแนนจาก "แรงงาน" ที่เป็นประชากรฐานรากอีกกลุ่มของประเทศไทย
ทว่า ทุกครั้งที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และรัฐบาล
ล่าสุด คณะกรรมการค่าจ้างมีมติในการประชุม ครั้งที่ 11/2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ด้วยการไฟเขียวปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป ที่น่าสนใจคือ “ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 400 บาท” มีผลใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในส่วนของภาคธุรกิจที่ก่อนหน้านี้ มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทแตกต่างกันไป ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารถือว่ามีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะกระทบผู้ประกอบการที่มีขนาดการจ้างงาน 200 คนขึ้นไป และหากมีร้านอาหารให้บริการราว 10 สาขา ประเมินต้นทุนจ้างงานเพิ่มขึ้นหลัก “ล้านบาท”
ทั้งนี้ หากร้านอาหารมียอดขาย ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่ม จะทำให้กำไรหายไปพอสมควร ขณะที่ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมีการฟื้นตัวกระจุกในโลเกชันที่ดีเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมร้านทั่วประเทศ
“ร้านอาหารที่มีการจ้างงาน 200 คน หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน จะมีค่าใช้จ่ายพนักงาน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรง ย่อมส่งผลให้กำไรของภาคธุรกิจหายไปด้วย”
ก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจอาหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า หากรัฐเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ จะกระทบต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 8-9% เนื่องจากพนักงานธุรกิจอาหารมีประมาณ 14,000 คน
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" กล่าวว่า บริษัทมีพนักงานกว่า 6,000 คน โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะมีผลกับ 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 แห่ง และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 1 แห่ง โดยการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ไม่ได้กระทบกับบริษัทมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทมีแผนในการปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงานเป็นปกติอยู่แล้ว อัตรานั้นแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น โรงงานบรรจุภัณฑ์ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จะมีพนักงานได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ประมาณ 600 คน อัตราการขึ้นจะลดหลั่นกันไป เช่น 20 บาท 40 บาทบ้าง สอดคล้องกับฐานรายได้ขั้นต่ำของแต่ละราย แต่หากคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายแรงงานที่เพิ่มอัตรา 40 บาท และรวมการทำงานล่วงเวลา (โอที) เป็น 70 บาท จะคิดเป็นกว่า 2.1 หมื่นบาทต่อปี ส่วนโรงงานที่จังหวัดลำพูน และราชบุรี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นอีก 7 บาท
เนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการพิจารณาจากทั้ง 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล สิ่งที่น่าจับตา น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือ “ราคาสินค้า” ที่อาจแพงแซงค่าแรงได้ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ การขึ้นค่าแรงจะไม่มีประโยชน์มากนัก หากทำให้ประชาชนแรงงานซื้อสินค้าได้น้อยลง ดังนั้น รัฐบาลควรมีแนวทาง หรือวิธีบริหารจัดการราคาสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมด้วย
ส่วนฝ่ายนายจ้าง เมื่อปรับขึ้นค่าแรงแล้วย่อมมีความคาดหวังในประสิทธิผลการทำงานของลูกจ้างมากขึ้น ต้องการเนื้องานที่ดี รวมถึงมีทางเลือกในการจ้างงานเพิ่มเติมด้วย ด้านฝ่ายลูกจ้าง ต้องรักษาตำแหน่งงานให้ดี เพราะการที่นายจ้างมีทางเลือก ย่อมมีผลต่อการจ้างงานเช่นกัน
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลของการตกลงจาก 3 ฝ่าย เมื่อผลเป็นแบบไหน ต้องยอมรับ แต่เมื่อลูกจ้างได้เงินเพิ่ม ก็ต้องรักษางานให้ดี เพิ่มโปรดักทิวิตี เงินที่ได้เพิ่มไม่ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นายจ้างคาดหวังการทำงานที่ดีมากขึ้น มีทางเลือกการจ้างงานเพิ่ม ส่วนรัฐต้องบาลานซ์มาตรการที่ออกมาระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ เพราะหากออกมาตรการค่าแรงขึ้นแล้วทำให้เงินในกระเป๋าคน ซื้อของได้น้อยลงย่อมไม่มีประโยชน์ จึงฝากดูแลไม่ให้ของแพงแซงค่าแรง"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 ธันวาคม 2567