เศรษฐกิจโลก 2025 ในมุมมอง OECD และคำแนะนำถึงผู้กำหนดนโยบาย
ปี 2025 เป็นอีกปีที่เริ่มต้นขึ้นอย่างโลกไม่สงบสุขและอนาคตเศรษฐกิจไม่ค่อยสดใส มีความเสี่ยงมากมายรออยู่ เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจและผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ ว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้จบปี 2025 ไปอย่างไม่แย่นัก
ในห้วงเวลาเช่นนี้ คาดการณ์ มุมมอง และคำแนะนำจากองค์การระหว่างประเทศ หรือบรรดาคลังสมองต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์ น่านำมาทบทวนกันอีกสักรอบ
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) สรุปคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2025 ไว้ในรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจ” (Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2024 ซึ่งนับเป็นรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจขององค์การระหว่างประเทศที่เผยแพร่ล่าสุดว่า การเติบโตทั่วโลกยังคงแกร่งในปี 2025 และ 2026 แม้จะมีความเสี่ยงที่สำคัญ
OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงแกร่ง-พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวได้ (Resilient) แม้จะมีความท้าทายที่สำคัญ โดยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของทั้งโลกในปี 2025 จะเติบโต 3.3% เร่งตัวขึ้นจาก 3.2% ในปี 2024 และจะโต 3.3% ต่อเนื่องไปในปี 2026 แต่แนวโน้มการเติบโตในแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกันอย่างมาก
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ OECD คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 2.8% ในปี 2025 ก่อนจะชะลอลงเหลือโต 2.4% ในปี 2026 ส่วนยูโรโซน คาดว่าจะโต 1.3% ในปี 2025 และ 1.5% ในปี 2026 ญี่ปุ่นคาดว่าจะโต 1.5% ในปี 2025 แล้วชะลอลงเหลือโต 0.6% ในปี 2026 สำหรับจีน คาดว่าจะโตได้ 4.7% ในปี 2025 และ 4.4% ในปี 2026
OECD ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางอาจทำให้ตลาดพลังงานหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจมีความเสี่ยงที่จะขัดขวางการเติบโตของการค้า ความประหลาดใจเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตหรือเส้นทางของภาวะเงินฝืดอาจกระตุ้นให้เกิดการปรับฐานอย่างยุ่งเหยิงในตลาดการเงิน
“การเติบโตอาจสร้างความประหลาดใจในด้านดีได้เช่นกัน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น หากอำนาจซื้อฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย การแก้ไขความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญได้แต่เนิ่น ๆ อาจช่วยปรับปรุงความเชื่อมั่นและช่วยให้ราคาพลังงานลดลง”
OECD มองว่า เพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องลดอัตราเงินเฟ้อลงให้ได้อย่างยั่งยืน ต้องจัดการกับแรงกดดันทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพื่อบรรเทาสิ่งที่เป็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างต่อการเติบโตที่สูงขึ้นตามแนวโน้มที่ควรจะเป็น
มาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความทานทน รับมือความเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวได้ อัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อไปตามเป้าหมายของธนาคารกลาง ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่สำคัญ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก่อให้เกิดความเสี่ยงในระยะสั้น อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางอ่อนแอเกินไป
เลขาธิการ OECD แนะนำผู้กำหนดนโยบายว่า การดำเนินนโยบายจำเป็นต้องปกป้องเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ผ่าน (1) การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ผ่านการปรับเทียบอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อถูกควบคุมอย่างถาวรแล้ว และ (2) นโยบายการคลังที่สร้างพื้นที่ทางการคลังขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับรับมือกับแรงกดดันด้านการใช้จ่ายในอนาคต
“เพื่อที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และวางรากฐานการเติบโต เราจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการพัฒนาการศึกษาและทักษะ ต้องยกเลิกข้อจำกัดที่เข้มงวดเกินไปสำหรับการลงทุนทางธุรกิจ และต้องประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในเชิงโครงสร้าง” คือคำแนะนำจากเลขาธิการ OECD สำหรับการพัฒนาต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 มกราคม 2568