มาเลย์-สิงคโปร์ จับมือ สร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ ใหญ่กว่า "เซินเจิ้น" สองเท่า
ผู้นำของมาเลเซียและสิงคโปร์ลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดูดโครงการลงทุนจำนวน 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรกของการจัดตั้ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (7 ม.ค.) ว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามเปิดโครงการเขตเศรษฐกิจในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ซึ่งมีด่านพรมแดนที่มีผู้สัญจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกับสิงคโปร์ โดยการลงนามถูกเลื่อนไปเป็นเดือน ม.ค.หลังจากที่นายหว่องติดโควิด-19
“นี่เป็นโครงการสำคัญที่สร้างขึ้นบนโครงสร้างที่เกื้อหนุนกันระหว่างสิงคโปร์และยะโฮร์ เพื่อให้เราทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับจุดแข็งของเรา และร่วมกันดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมสู่ชายฝั่งของเรา" นายหว่องกล่าวที่ปูตราจายา เมืองหลวงของฝ่ายบริหารของมาเลเซีย
ทั้งสองประเทศให้คำมั่นที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับโครงการทั้งหมด 100 แห่งภายในระยะเวลา 10 ปีแรก พวกเขาหวังว่าสิ่งจูงใจต่างๆ รวมถึงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระดับพิเศษจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่
เจ้าหน้าที่ในรัฐยะโฮร์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาคาดว่าเขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะสร้างงานใหม่จำนวน 100,000 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจมาเลเซีย 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนใหม่และบริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ขยายหรือย้ายฐานการผลิตมายังยะโฮร์ ซึ่งมีพื้นที่และฐานการจ้างงานที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,500 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์กว่า 4 เท่า และใหญ่กว่านครเซินเจิ้นของจีนเกือบ 2 เท่า ซึ่งเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับฮ่องกงและมาเลเซียหวังจะเลียนแบบความสำเร็จด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้
"น้อยมากที่จะเห็นประเทศสองประเทศทำงานร่วมกันเป็นทีม" อันวาร์กล่าวในพิธีเมื่อวันอังคาร "ไม่มีที่ไหนในโลกที่คุณจะได้เห็นสองประเทศทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันรวมทั้งดึงดูดการลงทุน"
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างยะโฮร์และสิงคโปร์เป็นเรื่องที่ยากในอดีต มีผู้คนกว่า 300,000 คนข้ามพรมแดนทางบกระหว่างยะโฮร์-สิงคโปร์ทุกวัน ส่วนใหญ่เพื่อไปทำงาน และการจราจรบนสะพานเชื่อมสองประเทศมักทำให้เกิดความล่าช้าหลายชั่วโมง
ความพยายามครั้งก่อนในการเชื่อมภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ต้องหยุดชะงักเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องค่าใช้จ่ายและอุปสรรคอื่นๆ
นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สิ่งสำคัญคือการแก้ไขปัญหาคอขวดในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า รวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้ทั้งในสิงคโปร์และยะโฮร์
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
"มีความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถด้านระบบราชการและการจัดการความคาดหวังสำหรับธุรกิจที่ข้ามพรมแดนไปยังยะโฮร์" อัสรุล ฮาดี อับดุลลาห์ ซานี หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ADA Southeast Asia กล่าวก่อนการลงนามในข้อตกลง
ความใกล้ชิดของยะโฮร์กับสิงคโปร์เป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญที่สุดมาโดยตลอด สิ่งนี้เห็นได้ชัดล่าสุดจากการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สิงคโปร์ระงับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ในช่วงปี 2562-2565 ส่วนหนึ่งเนื่องจากความกังวลเรื่องการจัดหาพลังงาน
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อธิบายต่อว่า เจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศให้รายละเอียดเพิ่มเติมน้อยมากนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้แล้วในบันทึกความเข้าใจที่ลงนามเมื่อปีที่แล้ว ข้อตกลงนั้นกล่าวถึงเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของผู้คน ซึ่งรวมถึงการเดินทางแบบไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางและระบบการตรวจคนเข้าเมืองด้วยคิวอาร์โค้ด
ส่วนมาเลเซียประสบปัญหาในการเปิดตัวระบบใบอนุญาตเข้าประเทศดิจิทัลสำหรับยานพาหนะ และเพิ่งเริ่มทดลองใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองด้วยคิวอาร์โค้ดที่ด่านตรวจของตัวเองซึ่งเป็นโครงการที่สิงคโปร์ได้นำไปใช้ในวงกว้างแล้ว
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่าทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าเพียงพอในการปรับปรุงนโยบายการลงทุนและภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่จริงหรือไม่ โดยสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำที่สุดในภูมิภาคที่ 17% เทียบกับ 24% ในมาเลเซีย
"สิ่งดึงดูดของเขตเศรษฐกิจพิเศษน่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี"
อิวอนน์ เบห์ หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Wong & Partners ในกัวลาลัมเปอร์กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า "สำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ยะโฮร์เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานสำหรับภูมิภาค การยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีการขายเป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่พวกเขาคาดหวังก่อนที่จะพิจารณาตั้งศูนย์กลางในยะโฮร์"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 มกราคม 2568