จับตาสงครามการค้า 2.0 ส่อทุบเศรษฐกิจจีนสาหัส
บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มักยืนยันเสมอว่า สงครามการค้า โดยเฉพาะในกรณีที่คู่กรณีทั้งสองพากันตอบโต้ซึ่งกันและกันไม่หยุดหย่อน ท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะ
ที่ผ่านมา ทุกคนมักเตือน “โดนัลด์ ทรัมป์” และพวกว่า การทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากร นั้นในที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยการที่บรรดาผู้บริโภคชาวอเมริกันทั้งหลายเองนั่นแหละที่ต้องควักกระเป๋าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคใด ๆ เพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลายาวนาน
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วเศรษฐกิจของจีนเล่าจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งทำนองนี้ได้หรือไม่ จีนมีวิธีใดที่จะเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมของตนได้หรือเปล่า และเอาเข้าจริง เศรษฐกิจในเวลานี้อยู่ในสภาพที่พร้อมรับมือกับสงครามการค้าระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้แล้วหรือไม่
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เวอร์ชั่น 2.0 เริ่มต้นขึ้นทั้ง ๆ ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ แถมจีนเองก็แสดงออกอย่างชัดเจน โดยใช้วิธีการเดียวกันตอบโต้สหรัฐอเมริกาคืนแบบทันควันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เริ่มจากการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกรายการอีก 10% จีนก็ตอบโต้ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญอย่าง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และเครื่องจักรเพื่อการเกษตรกับสินค้าอื่น ๆ อีก 10-15% กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ วันเดียวกับที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมแยกต่างหากอีก 25 เปอร์เซ็นต์ มีผลบังคับใช้
นอกจากจะปรับขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของตนสำหรับสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นการตอบโต้แล้ว จีนยังประกาศให้มีการควบคุมการส่งออกสินแร่สำคัญ ซึ่งใช้กันมากในอุตสาหกรรมไฮเทค อาทิ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อีกด้วย
พร้อมกันนั้น ก็สั่งการให้เริ่มมีการไต่สวนบริษัทอเมริกันอย่างกูเกิล และพีวีเอช กรุ๊ป (เจ้าของแบรนด์อย่างคาลวิน ไคลน์ และทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์) รวมไปถึงบริษัท อิลลูมินา บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ฐานมีการกระทำอันเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
โดยให้นำบริษัทเหล่านี้ใส่เข้าไว้ในบัญชี “นิติบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ” (Unreliable Entities) นอกเหนือจากนั้น ทางจีนยังได้จัดทำคำร้องเรียนไปยัง องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาฝ่ายอเมริกันว่าดำเนินการการค้าไม่เป็นธรรม ในกรณีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% อีกด้วย
หวัง กั๊วะเฉิน นักวิชาการจากสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ จุง-หว่า ของไต้หวัน ระบุว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านั้น เป็นเหมือนการนำเอาเรื่องราวเมื่อครั้งที่ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากทำสงครามการค้ากันเป็นครั้งแรกกลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง ครั้งนั้นเมื่อปี 2018 ก็เป็นทรัมป์อีกเช่นกันที่เป็นฝ่ายเริ่มการโจมตีด้วยกำแพงภาษีก่อน ทำให้จีนต้องตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันชนิดสมน้ำสมเนื้อ จุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าต่อเนื่องกันขึ้นในที่สุด
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ พิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้าจากจีน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2020 อันเป็นจุดที่เกิดความตกลงที่เรียกว่า “ความตกลงระยะที่ 1” ขึ้น เป็นการยุติไม่ให้สงครามการค้าลุกลามเพิ่มมากขึ้น เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ ยังคงมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่สูงกว่า 19% มาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากอดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ไม่เพียงไม่สนใจจะยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังใช้มันเป็นเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนด้วยอีกต่างหาก
ยิ่งไปกว่านั้น ในการประกาศมาตรการตอบโต้เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแจกแจงเพิ่มเติมด้วยว่า สงครามการค้าและกำแพงภาษีนั้นจะไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะ มีแต่จะทำร้ายและทำลายผลประโยชน์ของทั้งคนจีนและคนอเมริกันด้วยกันเท่านั้น และเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนการกระทำที่ผิดให้ถูกต้องเสีย “เลิกใช้ประเด็นด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นอาวุธ” เสียที
ข้อที่น่าสังเกตอีกประการก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% ที่สหรัฐประกาศเป็นระลอกแรกนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการค้า แต่เป็นการลงโทษในฐานที่จีนปล่อยให้มีการส่งออกเฟนตานิลไปยังสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่สำคัญก็คือระดับอัตราภาษีที่ปรับขึ้น ยังคงต่ำกว่าระดับ 60% ที่ทรัมป์เคยกล่าวเอาไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงอยู่มากเลยทีเดียว
โกลด์แมน แซคส์ ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า จนถึงขณะนี้พิกัดภาษีนำเข้าใหม่ที่จีนประกาศออกมานั้น ครอบคลุมการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาคิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาครอบคลุมสินค้าที่นำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าสูงถึง 525,000 ล้านดอลลาร์
จากตัวเลขเหล่านี้ ทำให้ นิก มาร์โรว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าโลกประจำภูมิภาคเอเชียของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต เชื่อว่าในสงครามการค้าระยะแรกนี้ สหรัฐอเมริกาส่อเค้าว่าจะเสียหายมากกว่าจีน จากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะถูกผลักภาระให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ปัจจัยประกอบอีกหลายอย่างที่มีอยู่ในกระบวนการดำเนินการของทรัมป์ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการผลักดันการค้าโลกให้ไปอยู่ภายใต้ระเบียบใหม่ที่จีนกำลังพยายามสร้างขึ้น
แต่ หวัง กั๊วะเฉิน กลับไม่คิดเช่นนั้น เขาชี้ว่า ถึงแม้การกระทำของทรัมป์จะทำให้เกิดความกังวลและเคลือบแคลงให้กับหลายประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศเหล่านั้นจะหันไปหาจีนเต็มตัวแต่อย่างใด ที่สำคัญก็คือ สงครามการค้าหนนี้เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวอย่างหนัก จากปัจจัยภายในหลาย ๆ ด้าน ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลก ที่เคยได้รับบทเรียนจากความขัดแย้งครั้งที่ผ่านมา พากันหาทางเลือกทางการค้าและห่วงโซ่การผลิตใหม่ ๆ ไว้อยู่ก่อนแล้ว
หวังคิดว่าจีนอาจหาทางออกด้วยการระบายสินค้าไปยังชาติกำลังพัฒนา แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ในระยะหลังมานี้ประเทศเหล่านี้ อย่างเม็กซิโก อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ไทยเองก็เป็นกังวลกับกรณีนี้มาก จนมีการประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดออกมาป้องกันกันแล้ว
หวังเชื่อว่า เหตุเพราะว่าเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการส่งออกสูงมาก สงครามการค้าครั้งนี้จึงจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อการลงทุนภายในประเทศ ทำให้การจ้างงานลดน้อยลง และยิ่งบ่อนเซาะการบริโภคภายในประเทศของจีนมากยิ่งขึ้นไปอีก
สุดท้ายแล้ว สงครามการค้าครั้งใหม่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนทรุดหนัก เกิดปัญหาเรื้อรังยากแก้ไขในระยะยาวได้เลยทีเดียว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568