แกะรอยเศรษฐกิจเยอรมนี อดีตมหาอำนาจยุโรปกำลังล่มสลาย หรือมีทางฟื้นตัว?
เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตพลังงาน การแข่งขันจากจีน และโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งปรับปรุง หลังการเลือกตั้ง เกาะติดรัฐบาลใหม่กับหนทางนำพาประเทศกลับสู่เสถียรภาพ
เยอรมนีเคยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจยุโรป เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศกลับเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย ตั้งแต่การพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ปัญหาการแข่งขันจากจีน ไปจนถึงการขาดแคลนแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง
การเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นไปแสดงให้เห็นว่าชาวเยอรมันต้องการความเปลี่ยนแปลง พรรคฝ่ายค้าน CDU/CSU ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคขวาจัด AfD ได้คะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีแนวทางอย่างไร คำถามสำคัญคือ เยอรมนีจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็น "คนป่วยแห่งยุโรป" อีกครั้ง
ย้อนกลับไปในอดีต เยอรมนีเคยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีตะวันตกสามารถพลิกฟื้นตัวเองจากวิกฤตจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของยุโรป การปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการนำมาร์คเยอรมันกลับมาใช้ การยกเลิกการควบคุมราคา และการลงทุนจากแผนมาร์แชลของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วจนถูกขนานนามว่า Wirtschaftswunder หรือ "ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงเวลาการรวมเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกในปี 1989 เศรษฐกิจต้องเผชิญภาระหนักจากต้นทุนการรวมประเทศที่สูงมาก การชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดส่งออกทำให้การว่างงานพุ่งสูงถึงเลขสองหลัก และในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เยอรมนีกลายเป็น "คนป่วยแห่งยุโรป" ที่มีปัญหาเศรษฐกิจสะสม
ความพยายามแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ภายใต้รัฐบาลของ เกอฮาร์ด ชเรอเดอร์ ผู้นำเยอรมันในขณะนั้นออกมาตรการปฏิรูปแรงงานเพื่อลดอัตราการว่างงาน โดยกำหนดให้ผู้ว่างงานต้องยอมรับงานที่เสนอให้ มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์สวัสดิการ แม้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ ทำให้เกิดแรงงานค่าแรงต่ำจำนวนมากขึ้น แต่ก็ช่วยลดอัตราการว่างงานจากระดับ 11.7% ในปี 2005 ลงมาเหลือ 6% ในปี 2024
ในช่วงที่เศรษฐกิจเยอรมันเติบโต อุตสาหกรรมของประเทศก็ขยายตัวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจยุโรป เยอรมนีเป็นศูนย์กลางของการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีรากฐานที่เปราะบางอย่างหนึ่ง นั่นคือการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย
ภายใต้รัฐบาลของแองเกลา แมร์เคิล เยอรมนีเลือกที่จะลดบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์หลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011 และหันไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียแทน
จนกระทั่งรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 เยอรมนีต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อรัสเซียตัดการส่งก๊าซ ส่งผลให้ราคาพลังงานในเยอรมนีพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นเป็น 20.3 ยูโรเซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ต้นทุนในสหรัฐฯ และจีนอยู่ที่เพียง 8.4 ยูโรเซนต์ สิ่งนี้ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานเข้มข้น เช่น การผลิตเหล็ก ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ ต้องลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก
นอกจากปัญหาพลังงานแล้ว เยอรมนียังเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันระดับโลก จีนเคยเป็นตลาดสำคัญของเยอรมนีสำหรับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและยานยนต์ แต่ปัจจุบันจีนได้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองจนกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในปี 2020 จีนยังไม่เป็นผู้ส่งออกรถยนต์สุทธิ แต่ภายในปี 2024 จีนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ถึง 5 ล้านคัน ขณะที่เยอรมนีซึ่งเคยเป็นผู้นำตลาดต้องเห็นการส่งออกลดลงเหลือเพียง 1.2 ล้านคัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์จนทำให้ผู้ผลิตเยอรมันแทบไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป
ไม่เพียงแค่จีนเท่านั้น เยอรมนียังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเยอรมนีและสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยขู่ว่าจะใช้มาตรการภาษีเพื่อลดการนำเข้าจากยุโรป เยอรมนีมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงถึง 70 พันล้านยูโร แต่ถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า อุตสาหกรรมเยอรมันอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน ปัญหาภายในประเทศก็ทวีความรุนแรงขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเยอรมนีล้าหลังไปมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ถนน สะพาน และระบบรางรถไฟหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม ตัวอย่างเช่น สะพานกว่า 5,000 แห่งในประเทศต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน แต่การลงทุนภาครัฐกลับถูกจำกัดโดย debt brake หรือกฎระเบียบที่จำกัดการกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหยุดชะงัก
หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่เผชิญความกดดันให้ปฏิรูปเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ชี้ว่าหากเยอรมนีต้องการฟื้นตัว จำเป็นต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลดภาระภาษีให้ภาคธุรกิจ และผ่อนคลายกฎระเบียบด้านแรงงาน โดยเฉพาะการเปิดรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง หากไม่มีการปฏิรูปที่เด็ดขาด เยอรมนีอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันต่อไป
แม้เยอรมนียังคงมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แต่อนาคตของประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว หากรัฐบาลใหม่สามารถออกมาตรการที่เหมาะสม เยอรมนีอาจสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่หากยังคงติดหล่มในปัญหาเดิมๆ ประเทศอาจเผชิญชะตากรรมซ้ำรอย "คนป่วยแห่งยุโรป" อีกครั้ง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568