ส่งออกไทย ม.ค. 2568 โตพุ่ง 13.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แรงหนุนจากคู่ค้า
สนค. เผยการส่งออกไทย เดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 25,277.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ได้แรงหนุนจากการประเทศคู่ค้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 25,277.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.9 ดุลการค้า ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกเดือนนี้หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตและผู้บริโภค
นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร :
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน
โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในขณะที่สินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 2.2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 45.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้)
ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 11.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย)
อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เยอรมนี เวียดนาม และไต้หวัน) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 19.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เมียนมา ออสเตรเลีย และลาว) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 13.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี รัสเซีย และมาเลเซีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 32.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดแคนาดา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เยเมน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล และญี่ปุ่น) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัวร้อยละ 11.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย เมียนมา และอินเดีย)
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 16.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และจีน แต่ขยายตัวในตลาดลาว ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์) ผักกระป๋อง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 13.3 กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ลาว ฮ่องกง และเมียนมา)
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม :
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 45.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 148.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ อิตาลี กาตาร์ และสหราชอาณาจักร)
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และเบลเยียม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 33.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย อิตาลี และตุรกี)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา และบราซิล) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 18.6 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เกาหลีใต้ และเวียดนาม)
เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา จีน และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็กและไอร์แลนด์)
เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 18.3 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง และสหรัฐฯ) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 38.2 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร)
แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 1 และในปี 2568 :
การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1 ยังมองว่าขยายตัวไปในทิศทางที่ดี และยังมีการเติบโต โดยค่าเฉลี่ยการส่งออก 25,000-28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิต สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางที่เริ่มคลี่คลาย ดัชนีราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ สถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงตึงเครียด ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ในสหรัฐฯ ผลกระทบจากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือ ตลอดจนผลกระทบจากมาตรการทางการค้าต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการค้า กระจายความเสี่ยงด้านตลาด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่ท้าทาย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568