วิกฤติ "หนี้" ทั่วโลกพุ่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 318 ล้านล้านดอลลาร์
IIF รายงาน "หนี้" ทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 318 ล้านล้านดอลลาร์ ตลาดเกิดใหม่มีสัดส่วน 65% คาดปีนี้เพิ่มอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ กังวลนักลงทุนเทขาย "บอนด์ยีลด์" ดันต้นทุนกู้ยืมรัฐบาลพุ่ง
รอยเตอร์รายงานถึงรายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance) หรือ IIF ที่เผยให้เห็นว่าในปี 2567 อัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมูลค่าหนี้สินทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 318 ล้านล้านดอลลาร์ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกกลับเติบโตชะลอตัว

แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะทั่วโลก 7 ล้านล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นในปี 2566 ซึ่งในตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการกู้ยืมเงินมากขึ้น
นอกจากนี้ IIF เตือนกลุ่ม "bond vigilantes" คือกลุ่มนักลงทุนในตลาดพันธบัตรที่อาจเทขายพันธบัตรของรัฐบาล หากมองว่าว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังที่ไม่รอบคอบ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพันธบัตรร่วงลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลเพิ่มขึ้น
เสี่ยงหนี้เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ :
อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 328% เพิ่มขึ้น 1.5% เนื่องจากระดับหนี้สินของรัฐบาลที่สูงถึง 95 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังสวนทางกับภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

IIF คาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สินทั่วโลกจะชะลอตัวลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้นทุนการกู้ยืมที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันก็มีการเตือนว่าหนี้สินของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเรียกร้องให้มีการกระตุ้นทางการเงินและการใช้จ่ายด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นใน “ยุโรป”
เอ็มเร ทิฟติก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านความยั่งยืนของ IIF กล่าวว่าอาจเห็นความผันผวนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง
'ตลาดเกิดใหม่' เจอความท้าทายใหญ่ :
ตลาดเกิดใหม่เช่น จีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และตุรกีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของการเพิ่มขึ้นของหนี้สินทั่วโลกในปีที่ผ่านมา
ประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังเจอความท้าทายใหญ่ เพราะหนี้สินพุ่งสูงขึ้นมาก ประกอบกับปีนี้ยังมีหนี้เก่าที่ต้องจ่ายคืนอีก 8.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ที่สำคัญคือ 10% ของหนี้ทั้งหมดเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้ประเทศเหล่านี้อาจรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่จะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น
รายงานยังระบุว่าความตึงเครียดจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้นและการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ที่จะหยุดให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ รวมทั้งการตัดงบประมาณ USAID อาจก่อให้เกิดความท้าทายด้านสภาพคล่องที่สำคัญ จำกัดความสามารถในการต่ออายุหนี้และการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมจะทำได้ยากขึ้น
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ในสภาวะที่มีความผันผวนสูงเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนให้มากขึ้น” ทิฟติก กล่าว
อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง อาทิ เคนยาและโรมาเนีย กำลังประสบปัญหาในการเพิ่มรายได้ภายในประเทศด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยเคนยาเผชิญกับความไม่พอใจของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษี ในขณะที่โรมาเนียต้องระมัดระวังนโยบายการคลังเนื่องจากมีกำหนดการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568