ถึงเวลาภาคส่งออกไทยยกระดับสู่ Green Export
การเปลี่ยนผ่านของภาคส่งออกไทยสู่ Green Export จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมา EXIM BANK ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยให้การสนับสนุนผู้ส่งออกไทยอย่างครบวงจร
เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีเขียวของโลกกำลังถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย (Trump 2.0) โดยที่ผ่านมาทรัมป์มีแนวคิดไม่เชื่อในวิกฤตโลกร้อนและเตรียมลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าวทุกเวที อย่างไรก็ตาม หากมองให้รอบด้านจะเห็นว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนยังเป็นวาระสำคัญของโลก ทั้งจากสัญญาณที่น่ากังวลของ ภัยธรรมชาติและผลกระทบที่ใกล้ตัวทุกคน รวมถึงปฏิญญาในเวทีสำคัญระดับโลกที่หลายประเทศร่วมลงนาม กันไปแล้ว อีกทั้งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น EU และจีน ที่ครองสัดส่วน GDP รวมกันถึง 34% ของ GDP โลก ยังคงเดินหน้าเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง สำหรับไทยเองก็มีแผนเดินหน้าในแนวทางสีเขียว อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจ
สำคัญของประเทศที่ต้องยกระดับสู่ “Green Export” โดยจากการประเมินของ International Monetary Fund (IMF) พบว่า การส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยมีสัดส่วนราว 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น 15% จีน 10.4% เกาหลีใต้ 10.2% รวมถึงในยุโรป เช่น เยอรมนี 15.4% ฮังการี 14.9% ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ภาคส่งออกไทยควรเร่งยกระดับสู่ Green Export มีดังนี้
Momentum Market :
ตลาดสีเขียวเติบโตดี จะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าส่งออกสินค้า สีเขียวของโลกขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.4% (CAGR) เทียบกับสินค้านอกกลุ่มที่ขยายตัวเพียง 1.9% ส่วนหนึ่งมาจากตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเติบโตในวงกว้างมากขึ้น สะท้อนจากหลายผลสำรวจทั่วโลก เช่น PwC รายงานผลสำรวจผู้บริโภคใน 31 ประเทศทั่วโลกยอมจ่ายแพงขึ้น 9.4% เพื่อซื้อสินค้าที่รักษ์โลก สอดคล้องกับ ผลสำรวจของ McKinsey ที่ระบุว่า สินค้าส่งออกสีเขียวสามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าสินค้าปกติถึง 10-30%
Massive Measures :
มาตรการสีเขียวมีจำนวนมาก มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งยกระดับการส่งออกสู่ Green Export เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกออกมาตรการมาก ถึงกว่า 18,000 ฉบับ แม้สหรัฐฯ มีทิศทางไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกยังเดินหน้าต่อและจะยิ่งเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะตลาด EU ที่มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของตลาดส่งออกโลก และ 8.1% ของตลาดส่งออกไทย เตรียมบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) อย่างเต็มรูปแบบในกลุ่มสินค้านำเข้า ที่กำหนดในวันที่ 1 มกราคม 2569 หรือจีนที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญ มีสัดส่วนถึง 11.7% ของมูลค่าส่งออกไทย ก็มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมออกมาหลายเรื่อง เช่น มาตรการทางภาษีสำหรับสินค้าที่สร้างมลพิษ มาตรการฉลากสินค้าสีเขียว ซึ่งสินค้านำเข้าในกลุ่มที่กำหนดต้องผ่านมาตรฐานที่ระบุไว้จึงจะส่งเข้าไปในจีนได้ เป็นต้น
Mitigated Cost :
ต้นทุนระยะยาวลดลง การปรับธุรกิจให้ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังช่วยให้ต้นทุนทางธุรกิจของผู้ส่งออกลดลงในระยะยาว ทั้งต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงจากการใช้พลังงานสะอาด การวางแผนการผลิตและการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้การบริหารต้นทุนทางการเงินดีขึ้นจากการมีทางเลือกแหล่งเงินทุนมากขึ้นจาก Climate Finance ของสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงมีโอกาสได้ดอกเบี้ยลดลงหากดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เช่น Sustainability Linked Loan
การเปลี่ยนผ่านของภาคส่งออกไทยสู่ Green Export จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมา EXIM BANK ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยให้การสนับสนุนผู้ส่งออกไทยอย่างครบวงจร ทั้ง “การเติมความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้ส่งออกต้องเข้าใจหลักการประเมินการปล่อยคาร์บอนและวิธีการลดที่ถูกต้อง พร้อมกับนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ “การเติมโอกาส” ด้วยการจับคู่คู่ค้าที่ให้ความสนใจสินค้าด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ และ “การเติมเงินทุน” ผ่านการสนับสนุน Climate Finance ในหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ตามความต้องการผู้ส่งออกไทยในทุกระดับ โดยมุ่งหวังภาคส่งออกไทยไม่เพียงก้าวสู่ Green Export อย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังช่วยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568