"สงครามการค้า" แค่เริ่มต้น ไทยติดกลุ่มเสี่ยงสูง
บอกได้เต็มปากว่า "สงครามการค้า" ณ เวลานี้ยังแค่ "เริ่มต้น" เท่านั้น ซึ่งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจาก "แมกซิโก" และ "แคนาดา" ในอัตรา 25%
รวมทั้งการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% เป็นเพียงกระสุนนัดที่ 2 ที่ถูกยิงออกมาในสงครามการค้ารอบนี้ ของจริงคงได้เห็นหลังวันที่ 1 เม.ย.2568 ซึ่งเป็น “เดทไลน์” ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้สั่งให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายการค้า American First Trade Policy ให้เสร็จ พร้อมทำรายงานนำเสนอภายในวันดังกล่าว
รายงานเชิงวิเคราะห์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ที่เขียนเรื่อง “เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของทรัมป์” ระบุว่า โดยปกติแล้วทางสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) จะออกรายงานผลประเมินการกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้าไว้เป็นปกติประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมถึงประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมและไม่สมดุล
โดยรายงานฉบับล่าสุดของ USTR ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2567 ได้ระบุถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของ “ไทย” ไว้ด้วย มีประเด็นสำคัญ คือ อัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐที่อยู่ระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 27% และสินค้าอื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 7.1% เทียบกับของสหรัฐในด้านสินค้าเกษตรอยู่ที่ 5% ส่วนสินค้าอื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงข้อจำกัดด้านการลงทุนในประเทศไทย ด้วย เช่น ยังจำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เกิน 50% ในหลายๆ ธุรกิจ อาทิ โทรคมนาคม การขนส่ง และ ธนาคาร
สภาพัฒน์ ยังระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาร่วมกับการศึกษาของสถาบันต่างๆ ถึงเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ทั้งเกณฑ์ด้านการค้า ความมั่นคง ภาครัฐบาล การลงทุน และผู้อพยพ โดยเมื่อพิจารณาจากมิติดุลการค้า พบว่า ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเกณฑ์ความเสี่ยงจากทุกสถาบัน สอดคล้องกับข้อมูลดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2567 หรืออยู่อันดับที่ 11 เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญ
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนค่อนข้างชัดว่า “ไทย” มีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล เพราะปัจจุบันไทยส่งสินค้าไปสหรัฐสูงเป็นอันดับหนึ่งมีสัดส่วนราว 18% หรือเกือบๆ 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นเราคงต้องติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อจะรับมือได้อย่างทันท่วงที!
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 มีนาคม 2568