คลื่นธุรกิจจีนยึดย่านการค้าไทย "สำเพ็ง-ประตูน้ำ" รายย่อยกระอัก
ย่านการค้าเก่าแก่ของไทย "สำเพ็ง-ประตูน้ำ" สั่นสะเทือน ทุนจีนยักษ์ใหญ่ รายย่อย ได้เปรียบพลังทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม แห่ปักหลักลงทุน ขยายธุรกิจครอบคลุมทุกหมวดสินค้า
พร้อมเปิดร้านค้าโดยตรง ขายแบบเสรี ผู้ประกอบการไทย “รายย่อย” กระทบหนัก สมาคมพ่อค้าผ้าไทย ชี้ย่านสำเพ็ง พลิกโฉมรอบ 10 ปี ขณะย่านประตูน้ำ จีนยึดพื้นที่เปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ แจ้งเกิด “ห้วยขวาง”แลนด์มาร์กยอดนิยม ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ไทยทำเลยุทธศาสตร์ศูนย์กลางแห่งภูมิภาคดึงดูดจีนเลือกลงทุนอันดับหนึ่ง
สำรวจย่านการค้าเก่าแก่ที่เป็นทำเลทองของผู้ประกอบการในประเทศไทยมายาวนานนับร้อยปี “ย่านสำเพ็ง” และ “ย่านประตูน้ำ” กำลังถูกสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากการเข้ามารุกตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ “กลุ่มทุนจีน” ลงทุนเปิดธุรกิจและร้านค้าหลากหลายรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของเงินทุน โนว์ฮาว เทคโนโลยี สายป่านธุรกิจ อีกทั้งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐของไทย โดยเฉพาะการเปิดฟรีวีซ่าและนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้การเข้ามาเปิดธุรกิจในไทยมีความสะดวกและคล่องตัวสูง

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้ลงสำรวจพื้นที่ย่านการค้าสำเพ็ง และประตูน้ำ พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะ “ทุนจีน” เปิดร้านค้าจำหน่ายสินค้าโดยตรงหลากหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่เครื่องประดับ ของใช้ส่วนตัว ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ซูเปอร์มาร์เก็ต สินค้าสำเร็จรูปต่างๆ รวมถึงผ้าไทย นับเป็นก้าวรุกครั้งใหญ่ของทุนจีนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อบรรดาผู้ค้า ร้านค้ารายย่อย
นายเศรษฐพงศ์ ศรีสุภรวาณิชย์ นายกสมาคมพ่อค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มผู้ประกอบการจากจีนเข้ามารุกธุรกิจในประเทศไทยในหลากหลายเซกเตอร์ กลยุทธ์หลักเน้นนำเสนอสินค้าสำเร็จรูป โดยกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาย่านสำเพ็งที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมผ้ายังมีจำนวนน้อย และไม่ได้อยู่ในรูปแบบของวัตถุดิบ
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนส่วนใหญ่ จึงเน้นทำตลาดและกระจายอยู่รอบนอก แต่เมื่อลูกค้าที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดขายและส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ในท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าวัตถุดิบต้นน้ำอย่างสำเพ็งได้เช่นกัน
ย่านสำเพ็งพลิกโฉมใหญ่รอบ 10 ปี
ขณะเดียวกัน ภาพรวมย่านการค้าสำเพ็งของกลุ่มวัตถุดิบผ้า มีการเปลี่ยนแปลงไปในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับตลาดสำเพ็งทั้งการมีผู้ประกอบการร้านผ้าขยายออกไปในทำเลต่างๆ จากไดนาไมท์ของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเจเนเรชันสู่เจเนเรชัน รวมถึงจำนวนลูกค้าที่เข้ามาทำเลสำเพ็งที่ไม่เหมือนเดิม โดยไม่ได้หนาแน่นเหมือนในอดีต และรูปแบบการทำธุรกิจได้เปลี่ยนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ลูกค้าจึงไม่ได้จำเป็นต้องเข้ามาในย่านสำเพ็ง
"เราเป็นพ่อค้าผ้าไทย การแข่งขันในรูปแบบโกลบอลสเกลขึ้นเกิดมานานแล้ว จากที่มีโรงงานสิ่งทอไทยปิดตัว แต่ไม่ใช้มาจากการแข่งขันจากในประเทศไทย แต่เป็นโรงงานส่งออก ที่เป็นการแข่งขันส่งออกในระดับโลก ทางด้านวัตถุดิบในโลก”
สำหรับกลุ่มทุนจีนในกลุ่มผู้ผลิตผ้ามีความแข็งแกร่งหลายด้าน โดยเมื่อผลิตสินค้าในหนึ่งรอบสามารถป้อนตลาดในประเทศจีนและส่งออกไปในตลาดต่างประเทศ จึงมีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต (Economy of scale) ที่ดีกว่า รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นจุดแข็งและบางวัตถุดิบจีนมีความเชี่ยวชาญในการผลิตระดับสูงมาก ที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถผลิตได้
“สำเพ็ง มีการเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตเป็นเดสติเนชันของสินค้าผ้า ต่อมาเปลี่ยนไปสู่กิ๊ฟช็อป ลูกค้าที่มาเดินสำเพ็งจากเดิม เดินแทบไม่ได้ คนต้องไหลตามกันไป แต่ปัจจุบันคนยังแน่นอยู่บางพื้นที่ แต่สามารถเดินได้อยู่แบบหลวมๆ อีกทั้งในอดีตคนชอบถือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันถือถุงไซส์ต่างกัน อาจมาจากโลกออนไลน์ด้วยที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในพื้นที่”
ทุนจีนยึดสำเพ็งรายย่อยกระเทือนหนัก
นางกาญจนา อมรธีระกุล เจ้าของร้านตุ๊กตาในย่านสำเพ็ง ซึ่งเปิดร้านมานานกว่า 30 ปี เป็นการรับสินค้ามาจากผู้ผลิตไทย จากชุมชนในจังหวัดราชบุรี ประเมินว่า ตลาดสำเพ็งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีทุนจีนเข้ามาค้าขายในย่านสำเพ็งเพิ่มขึ้นและมีจำนวนสูงมากในช่วง 1-2 ปีหลังนี้ เนื่องจากชาวจีนเห็นการทำธุรกิจเติบโตดีจึงชักชวนชาวจีนให้เข้ามาทำเลแห่งนี้
นอกจากกลุ่มทุนจีนแล้วยังมีประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเมียนมา มาในรูปแบบรถเข็นแข่งกับคนในพื้นที่เช่นกัน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสัดส่วนถึง 30-40% ส่วนผู้ประกอบการไทยมีสัดส่วนราว 60-70%
“การเข้ามาของผู้ประกอบการจีนในย่านสำเพ็งที่น่ากังวล คือ ทุนที่สูงกว่าไทย ทุนจีนจะทำธุรกิจกับคนจีนได้ดีกว่าคนไทยทำธุรกิจกับจีน เพราะพูดภาษาเดียวกันจึงติดต่อกันได้ง่ายสะดวกมากกว่าคนไทยไปติดต่อกับจีน ดังนั้น ผู้ผลิตไทยที่สั่งให้โรงงานจีนผลิตจึงมีข้อเสียเปรียบ อีกทั้งจีนยุคใหม่ต่างมีเทคโนโลยีในการผลิต มีนวัตกรรมค่อนข้างสูง มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้สินค้าจีนยุคใหม่มีความโดดเด่นเรื่องคุณภาพ สามารถตั้งราคาสูงได้ เพราะคิดว่าของมีคุณภาพและลูกค้าคนไทยก็สนใจไปซื้อ”
ธุรกิจไทยกระอักผลกระทบหลายเด้ง
หากเปรียบเทียบด้านเงินลงทุน ผู้ประกอบการไทยมีสายป่านไม่แข็งแรง อย่างการเช่าห้อง เจ้าของตึกชาวไทย สามารถตั้งราคาสูงได้เช่น ราคา 3-4 แสนบาทต่อเดือน และชาวจีนพร้อมจ่ายเช่าเปิดร้าน แต่ผู้ประกอบการรายย่อยไทยไม่มีเงินทุนสูงขนาดนั้น ทำให้ได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมาจึงได้เห็นภาพของผู้ประกอบการรายย่อยไทยที่แข่งขันไม่ไหวต้องย้ายออกไปจากสำเพ็ง หรือหันไปเปิดร้านขายสินค้าอย่างอื่นแทน
นอกจากการแข่งขันที่มีมากขึ้นแล้ว ย่านสำเพ็งยังเผชิญผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การค้าขายซบเซาลงต่อเนื่อง จากอดีตเคยขายได้เดือนละหลักแสนบาท ลดลงเหลือไม่กี่หมื่นบาท ซึ่งในอนาคตไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับย่านสำเพ็งและตลาดการค้าสำคัญจะมีรายย่อยไทยเหลืออยู่เท่าไร
“ทางร้านในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย ยังอยากค้าขายในทำเลแห่งนี้ให้นานที่สุด เพราะรับซื้อตุ๊กตาจากราชบุรี ที่เป็นการผลิตด้วยงานฝีมือจากกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอยากเรียกร้องว่า แม้การเข้ามาของทุนจีนในย่านสำเพ็งที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ แต่อยากให้เข้ามาทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการเปิดบริษัทจดทะเบียนและการเสียภาษีเพื่อทำให้ประเทศได้รับประโยชน์มากสุด”
โรงงานผลิตเช่าพื้นที่เปิดขายเสื้อผ้าเด็ก
ขณะที่ย่านการค้าประตูน้ำ แหล่งค้าส่งค้าปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดใหญ่อันดับต้นของประเทศไทย มีผู้ประกอบการจีนกลุ่มเสื้อผ้าเข้ามาขยายธุรกิจมากขึ้น โดยพบว่าพื้นที่อาคารใบหยก 1 ชั้น 4 มีการเปิดจำหน่ายสินค้าซึ่งมาจากเมือง หูโจว จังหวัดเจ้อเจียง กับ “China Huzhou overseas children’s clothing center” เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.2567 มาจาก บริษัท เจ้อเจียง ยูเต๋า โคชธิง (Zhejiang Youtao Clothing) โดยเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าเด็กรายใหญ่ และส่งออกห้างค้าปลีกวอลมาร์ทของสหรัฐ
รวมถึง บริษัท หูโจว โกลเดน พาวเดอร์ การ์เม้นท์ (Huzhou golden power garment) ผู้ผลิตเสื้อขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาสินค้า (อาร์แอนด์ดี) รวมถึงการออกแบบ ได้เปิดร้านค้าพื้นที่ทำเลใจกลางประตูน้ำอย่างเป็นทางการ
ห้วยขวางย่านการค้ายอดนิยม :
อย่างไรก็ดี การรุกตลาดของทุนจีน พบว่าย่านห้วยขวาง มีกลุ่มคนจีนสนใจเข้ามาทำธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจร้านขายยา ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต โดยการเปิดร้านในย่านนี้หนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นทำเลที่อยู่ใกล้กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย
“ชาวจีนจึงรู้สึกสบายใจในการเปิดธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้ย่านห้วยขวาง กลายเป็นย่านการค้าใหม่ยอดนิยมของผู้ประกอบการจีน”
ทุนจีนจ่อบุกไทยอีกมหาศาล :
นายชนินทร์ อุดมศรีรัตน์ เจ้าของเพจ ลุยจีน เคยไปเรียนที่ประเทศจีนและคุ้นเคยกับการทำธุรกิจของจีน กล่าวว่า การเข้ามาของทุนจีนในแต่ละย่านการค้าของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง และนโยบายของประเทศจีนผลักดันให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไทยมีความน่าสนใจลงทุนสูงมาก เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจที่สะดวกและโครงข่ายธุรกิจจีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้เอื้ออำนวยให้ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน”
อีกทั้งการเข้ามาของนักธุรกิจจีนในรอบใหม่นี้ไม่จำกัดในเมืองใหญ่เท่านั้น เริ่มกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากการพบชาวจีนในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ได้เข้าไปศึกษาลู่ทางเปิดธุรกิจ และทำการค้าขาย
ห่วงเครือข่ายทุนสีเทา :
นอกจากนี้ การเข้ามาของทุนจีนในไทยที่น่าห่วง เพราะบางส่วนเข้ามาไม่ถูกต้องและเป็นเครือข่ายของทุนจีนสีเทา โดยมีธุรกิจที่ทุนจีนสีเทานิยมเปิด คือ ทัวร์ศูนย์เหรียญ สถานบันเทิง พนันออนไลน์ อสังหาริมทรัพย์ คอลเซนเตอร์ ขนส่งศูนย์เหรียญ ผลิตสินค้าปลอม เงินกู้นอกระบบ และวีซ่าผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยธุรกิจเหล่านี้เม็ดเงินไม่ได้กระจายในประเทศไทยเป็นการส่งออกนอกประเทศไปทั้งหมด
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน บทสรุปของการเข้ามาของทุนจีนในไทยในปี 2568 อาจยังประเมินไม่ได้ว่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยแค่ไหน เนื่องจากเป็นการผลิตจากจีนและส่งตรงมาขายโดยชาวจีน เปิดหน้าร้านเอง เม็ดเงินที่เกิดการซื้อขายก็ส่งกลับไปจีน ยกเว้นการจดทะเบียนทำธุรกิจอย่างถูกต้องและจ่ายภาษีให้แก่ประเทศไทย แต่กลุ่มที่น่ากังวลมากสุดคือ ผู้ประกอบการไทยรายเล็ก ที่จะแข่งขันได้ยากมากขึ้น ในโลกของการค้าเสรีแบบเต็มรูปแบบ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 มีนาคม 2568