ปัจจัยแวดล้อมขับเคลื่อน "ตลาดแรงงาน" เศรษฐกิจซึมต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยปี 2567 ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าที่คาดทั้งที่ช่วงไตรมาส 4 แจกเงินหมื่นบาทต่อคนกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก อาการเศรษฐกิจไทยซึมยาวเหมือนคนป่วยไม่ฟื้นไข้ ต่อเนื่องเป็นทศวรรษ ช่วงสิบปี (2558-2567) ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.17%
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 5 ประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าขยายตัวเฉลี่ย 4.4% โดยมีเวียดนามนำโด่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ 7.1% ช่วงปีที่ผ่านมาเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก คือ ภาคส่งออกและท่องเที่ยว
ด้านการส่งออกขยายตัวเชิงดอลลาร์ 5.14% และเชิงเงินสกุลบาท 7.3% การนำเข้าขยายตัวในรูปเงินดอลลาร์ 6.3% สำหรับภาคท่องเที่ยวโดยรวมมีรายได้ประมาณ 2.62 ล้าน ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 25.54 ล้านคน
ขณะที่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ออกอาการทรงตัวหรือไม่ค่อยดี เช่น การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 1.6% การบริโภคเอกชนขยายตัว 4.4% จากปีที่ผ่านมาขยายตัว 6.9% เศรษฐกิจที่ซึมยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชั่วคราวขยายตัวได้ 0.4% แสดงให้เห็นถึงอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ไม่ค่อยจะดี
เศรษฐกิจปีที่แล้วขยายตัวในอัตราที่ต่ำและปี 2568 อาจขยายตัวได้เพียง 2.8% ตัวเลขนี้ได้รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกลางปี 1.45 ล้านเข้าไว้ด้วยแล้วคำถามคือเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำจะมีผลอย่างไรต่อการจ้างงาน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจกับ ตลาดแรงงานซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6.545 ล้านล้านบาท สัดส่วน 35.21% ของ GDP มีปฏิสัมพันธ์ทิศทางเดียวกัน ช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจเอกชนและตลาดแรงงานปรับตัวสอดคล้องตามสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่องมานานสิบปี
ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีไทยเผชิญปัญหาการเมืองในประเทศและรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2564 เป็นช่วงผ่านพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ธุรกิจเอกชนและอุตสาหกรรมการผลิตทยอยปิดกิจการปี 2566 โรงงานปิดตัวมากกว่า 1,800 แห่ง ขณะที่ปีที่ผ่านมาสถานประกอบการเอกชนเลิกกิจการมากกว่า 23,680 แห่ง ทุนจดทะเบียนรวมกัน 1.712 แสนล้านบาท ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวมากกว่า 1,225 แห่ง
จุดอ่อนคือธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรม ยานยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์และโซ่อุปทานที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน (ICE) การเผชิญการแข่งขันด้านราคาทั้ง ส่งออกและตลาดภายในจะรุนแรงโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน พลวัตดังกล่าวทำให้ช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีการปรับตัว เช่น การเลิกกิจการ ปรับลดขนาดธุรกิจ ลดเวลาการทำงาน ลดจำนวน แรงงานตลาดแรงงานรับรู้ถึงผลกระทบมานานทำให้ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของไทยจึงต่ำ
ปัจจัยแวดล้อมขับเคลื่อนตลาดแรงงานปี 2568 ประกอบด้วย
(1)ภาคเอกชนปรับสภาพธุรกิจสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำมาก่อนหน้านี้ เช่น การทยอยเลิกกิจการ การลดขนาดธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีและการลดกำลังคนที่ต้องติดตามคือแรงงานใน อุตสาหกรรมในชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาป
(2)ภาคส่งออกและท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีมีผลต่ออุปสงค์ความต้องการแรงงาน การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 5.14% (สศช.ระบุ 5.8%) ความท้าทายคืออัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าและมาตรการทางภาษีหรือ “Tariff Wall” ของ ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกฤทธิ์เดชมากน้อยเพียงใด ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีคาดว่าจำนวน นักท่องเที่ยวอาจใกล้ 39.5-40.0 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว (รวม) 3.3 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติเพิ่มจากปีก่อนหน้านั้น 12.5% ความท้าทาย คือ สภาวะเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ต่ำ
(3)การบริโภคของประชาชน ความท้าทายคือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะขยายตัวได้เพียง 3.3% ต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 4.4 % และปี 2566 ขยายตัวได้ 6.9% การบริโภคของประชาชนสะสมพิษจากเศรษฐกิจซึมยาวต่อเนื่องผล คือ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูง การปรับ โครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการ “คุณสู้-เราช่วย” ณ 16 ก.พ.2568 มีผู้เข้าร่วม 8.2 แสนราย จำนวน 9.9 แสน บัญชีมูลหนี้มากกว่า 2.66 ล้านล้านบาท
สะท้อนให้เห็นถึงหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงมีผลต่ออำนาจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลมีโครงการอัดฉีดเงินดิจิทัลเฟส 3 งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ภายในช่วงกลางปี ซึ่ง สศช.เสนอให้เปลี่ยนเป็นโครงการจัดการน้ำทั่วประเทศจะช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจได้มากกว่า
(4)ปัญหาสภาพคล่องธุรกิจ เกี่ยวข้องกับทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งภาคการผลิตและบริการโดยเฉพาะ SMEs และรายย่อยที่อุ้มแรงงานจำนวนมาก แนวโน้ม NPL หรือหนี้เสียในภาคธุรกิจกำลังขยายตัวและขยายตัวไปในธุรกิจรายใหญ่ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของปีที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 0.4 เป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และรายย่อยหดตัวถึง 1.9%
(5)อุปทานแรงงานลดลง เป็นผลจากสถานประกอบการเอกชนและการลงทุนใหม่เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เช่น เอไอ โรบอท ระบบออโตเมชั่นและโปรแกรม-ซอฟท์แวร์ มีการเร่งตัว นำมาใช้ทั้งในภาคบริการ-การผลิต-ก่อสร้าง-เกษตรและเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีเหล่านี้มีผลทำให้การใช้ แรงงานลดลง
อีกทั้งค่านิยมของแรงงานรุ่นใหม่ไม่นิยมหางานช่วง 2-3 ปีแรก ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันประกอบอาชีพอิสระเป็นการลดอุปทานการหางานและว่างงาน กอปรทั้งไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยหนึ่งในห้าของประชากรเป็นผู้สูงวัย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 มีนาคม 2568