กุญแจ 3 ดอก สำหรับเศรษฐกิจไทย ในวันที่สงครามการค้ารอบใหม่กลับมา
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ ครั้งใหญ่ในวันที่ 2 เม.ย. 2568 สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนัก และดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าเร็วทำระดับต่ำสุดในรอบหลายปี แม้ต่อมาในวันที่ 9 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนกำหนดปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariffs) ออกไป 90 วัน และเปิดช่องให้เจรจาภาษีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
แต่ความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มากจะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ กดดันการค้า การลงทุน และทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% เป็นอันดับที่ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าทั่วโลก (ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดาที่ยังได้รับการยกเว้นตามข้อตกลง USMCA) และเป็นอันดับที่ 10 ในเอเชีย สาเหตุสำคัญมาจากการที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าโดยตรงไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดถึงราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด (ปี 2024)
และยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุดถึง 145% และตอบโต้สหรัฐในลักษณะเดียวกัน ตลอดจนผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และการลงทุนจากต่างประเทศที่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก
SCB EIC ประเมินว่า สงครามการค้ารอบใหม่นี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2025 ขยายตัวเพียง 1.5% การส่งออกสินค้าจะพลิกกลับมาหดตัว และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ เช่น จีน ซึ่งเดิมคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่อาจรอดูท่าทีและผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐ ในสถานการณ์นี้ การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมและทันท่วงทีจะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ ด้วย “กุญแจ 3 ดอก” ดังต่อไปนี้
กุญแจดอกที่ 1 ปิดความเสี่ยง :
ภาครัฐต้องเร่งสร้างกลไกเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากความเสี่ยงภายนอก เช่น การไหลเข้าของสินค้าต่างชาติ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวด รวมถึงมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ในส่วนของภาคธุรกิจเองก็ควรเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างครบวงจร ทั้งการกระจายแหล่งวัตถุดิบ การลดต้นทุนวัตถุดิบ และการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลสภาพคล่องและกระแสเงินสดให้มีความพร้อมอยู่เสมอ รวมถึงเตรียมพร้อมในการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากช่องทางเดียว
กุญแจดอกที่ 2 เปิดโอกาสใหม่ :
การเจรจาเร่งเปิดตลาดการค้าใหม่ผ่านกลไกข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่แล้ว เช่น RCEP และการเร่งเจรจาข้อตกลงใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักไม่กี่ประเทศ เช่น สหรัฐ และจีน จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางต่อความผันผวนของนโยบายการค้าโลกลดลง ตลอดจนการสนับสนุนภาคเอกชนให้พัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าหลักเพียงไม่กี่ประเภท
ผู้ประกอบการไทยเองอาจต้องพิจารณาลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ และหันมาให้ความสำคัญกับการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพให้ได้มากที่สุด อาทิ จีน อินเดีย EU และตะวันออกกลาง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี FTA ที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสสร้างตลาดภายในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ความผันผวนภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
กุญแจดอกที่ 3 ปลดล็อกศักยภาพทางการแข่งขัน :
ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่การแข่งขันทวีความรุนแรง ไทยต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในระยะสั้นด้วยการใช้นโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมการดำเนินนโยบายการคลังแบบ “เจาะจงเป้าหมาย” สนับสนุนกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความผันผวนนี้ไปได้
ในระยะยาว ไทยต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต และเร่งทบทวนและลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ยังต้องควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานทั้งการ Reskill และ Upskill ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจมองหาโอกาสในการจับมือทางธุรกิจเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว บนโลกใบเดิมที่โฉมหน้าการค้า การลงทุน จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568