ศึกทำเนียบขาว vs เฟด "ทรัมป์" ปลด "พาวเวล" ได้ง่ายอย่างที่คิด?
ศึกทำเนียบขาว vs เฟด "ทรัมป์" ปลด "พาวเวล" ได้ง่ายอย่างที่คิด?
KEY POINTS
* ทรัมป์วิจารณ์พาวเวลต่อเนื่อง พยายามกดดันเฟดให้ลดดอกเบี้ย และอาจเป็นการสร้าง “แพะรับบาป” สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในวาระที่ 2 ของทรัมป์
* ทรัมป์อ้างว่ามีอำนาจที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งได้กลายเป็นเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกัน เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ 111 ปีของเฟด
* ตามกฎหมายของเฟด ประธานาธิบดีจะปลดผู้ว่าการเฟดได้ "ด้วยเหตุผล" เท่านั้น
* พาวเวลลั่น "ความเป็นอิสระขอธนาคารกลางนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย และเราไม่สามารถถูกถอดถอนได้ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น"
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" มีโจมตี "เจอโรม พาวเวล" ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในระบบการเงินของสหรัฐอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ทรัมป์กล่าวหาว่าพาวเวล ทำงานล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์
"เขาจะออกไป ถ้าฉันขอให้เขาไป เขาก็จะออกไปจากที่นั่น ฉันไม่คิดว่าเขาจะทำหน้าที่ของเขา เขาสายเกินไป สายเกินไปเสมอ ช้าไปนิดหน่อย และฉันก็ไม่พอใจเขา"
ในสมัยแรก ทรัมป์เป็นผู้เสนอชื่อพาวเวลให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด นับแต่นั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในวาระที่ 2 ซึ่งพาวเวลได้ประกาศต่อสื่อมวลชนว่าเขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าทรัมป์จะขอให้เขาลาออกก็ตาม
เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยว่าพาวเวล "ทำผิดพลาด" และ "ควรลดอัตราดอกเบี้ย" ซึ่งต่อมา มีรายงานข่าวว่าทรัมป์ได้หารือกับที่ปรึกษาทางกฎหมายในทำเนียบขาวถึงความเป็นไปได้ในการปลดพาวเวล
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ ทรัมป์กำลังพยายามกดดันพาวเวลในเรื่องการ “ลดอัตราดอกเบี้ย” ล่าสุดวานนี้(22 เม.ย.) ทรัมป์ได้โจมตีพาเวลล์อีกครั้งผ่านโพสต์โซเชียลมีเดียว่า "ภาวะเงินเฟ้อแทบจะไม่มีอยู่แล้ว โดยอ้างถึงราคาพลังงานและอาหารที่ลดลง แต่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงได้ หากนายไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในทันที”
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ทรัมป์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พาวเวลอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความพยายามที่จะกดดันเฟดให้ลดดอกเบี้ย และอาจเป็นการสร้าง “แพะรับบาป” สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างนี้จนถึงช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่งของทรัมป์
การที่ประธานาธิบดีและประธานเฟดขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยเช่นนี้เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ ?
แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์เฟดในสภาคองเกรสอยู่เสมอ แต่พาวเวลพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกสภาโดยการพูดคุยกับพวกเขาบ่อยๆ ทำให้พาวเวลไม่ค่อยกังวลกับคำวิจารณ์ของทรัมป์ เนื่องจากมั่นใจว่าได้รับการสนับสนุนจากสภา
ในอดีตที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคนอื่นๆ จะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของเฟด เพราะในสมัยประธานาธิบดี “คลินตัน” ซึ่งขณะนั้น บ็อบ รูบิน เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แนะนำว่าประธานาธิบดีไม่ควรเข้าไปยุ่งเรื่องเฟด และประธานาธิบดีคนอื่นๆ ก็ทำตามกันมาตลอด ยกเว้นโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาวิจารณ์เฟดอย่างเปิดเผย
ทรัมป์ไล่ประธานเฟดออก ได้หรือไม่?
เหตุการณ์ที่ทรัมป์อ้างว่ามีอำนาจที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งได้กลายเป็นเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกัน เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ 111 ปีของเฟด
ในอดีตเคยมีเรื่องประธานาธิบดีก็เคยวิจารณ์ประธานเฟด เช่น จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เคยโทษ อลัน กรีนสแปน ว่าทำให้เขาแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้พยายามปลดออกจากตำแหน่ง
ตามกฎหมายของเฟด ประธานาธิบดีจะปลดผู้ว่าการเฟดได้ "ด้วยเหตุผล" เท่านั้น ซึ่งเหตุผลในอดีตหมายถึง การทุจริต, ไร้ความสามารถ, ทำผิดกฎหมาย หรือไม่สามารถทำงานได้ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ไม่มีใครเคยทดสอบเรื่องนี้ในศาล
ขณะนี้ทรัมป์ กำลังเดินหน้าทดสอบขอบเขตอำนาจของตนเองในการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โดยคดีสำคัญที่กำลังถูกจับตามองคือ "Wilcox v. Trump" ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองระบบคุณธรรม โดยคดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ประเด็นสำคัญในคดีนี้คือ กฎหมายที่ตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมา ระบุว่าประธานาธิบดีสามารถปลดเจ้าหน้าที่ได้ "ด้วยเหตุผล" ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกันกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเฟด
หากศาลฎีกาตัดสินว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการปลดเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเหล่านี้ได้ ก็อาจเป็นบรรทัดฐานที่เปิดทางให้ประธานาธิบดีสามารถ "ปลด" พาวเวลออกจากตำแหน่งได้เช่นกัน
แม้ว่าประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งเฟด แต่โครงสร้างของเฟดนั้นถูกออกแบบมาโดยรัฐสภาให้มีความเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง หนึ่งในกลไกสำคัญคือวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการเฟดที่มีระยะยาวถึง 14 ปี และมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน
ด้วยโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้นักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจว่า แม้ประธานาธิบดีจะมีสิทธิ์ตามกฎหมายในการปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางตำแหน่ง แต่จะสามารถใช้อำนาจนั้นกับประธานเฟดอย่าง พาวเวล ได้หรือไม่
จะเกิดอะไรขึ้นหากเฟดสูญเสียความเป็น “อิสระ” ?
เมื่อเฟดสูญเสียความเป็นอิสระจะนำไปสู่ความไม่มั่นใจอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน เนื่องจากความเป็นอิสระของเฟดจะนำไปสู่การตัดสินใจนโยบายทางการเงิน โดยยึดหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้อง
แต่หากเฟดขาดอิสระ ทำให้ตลาดกังวลว่าการตัดสินใจของเฟดอาจถูกแทรกแซงทาง "การเมือง" ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ของสหรัฐและสถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองโลก
‘พาวเวล’ ย้ำอิสระของเฟด สำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ :
พาวเวลกล่าวสุนทรพจน์ที่ Economic Club of Chicago เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของเฟดต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
“เฟดจำเป็นต้องจับตาดูผลกระทบของนโยบายภาษีนำเข้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง การรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง”
นอกจากนี้ พาวเวลยังกล่าวว่า เฟดต้องการรอความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ก่อนที่จะตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและประชาชน
พาวเวลยังเน้นย้ำถึงความเป็นอิสระของเฟด โดยระบุว่า "ความเป็นอิสระของธนาคารกลางนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย และเราไม่สามารถถูกถอดถอนได้ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568