สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จี้รัฐบาลเร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ก่อนถูกเพื่อนบ้านทิ้งห่าง
หอการค้าไทยได้ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ เป็นประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ คนที่ 26 มีวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2568-2569
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 25 (ที่ดำรงตำแหน่ง 2 วาระรวม 4 ปี) ได้หมดวาระลง และจะเป็นประธานอาวุโส หอการค้าไทย โดยที่ตำแหน่งประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (ประธานหอการค้าไทยจะเป็นประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่ง) ของนายสนั่น จะหมดวาระลงในวันที่ 29 เมษายน 2568
นายสนั่น อังอุบลกุล เปิดใจในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยใน 2 วาระ รวม 4 ปีที่ผ่านมา เป็นห้วงเวลาแห่งความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก การนำองค์กรภาคเอกชนของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงและมีวิสัยทัศน์นั้น มิใช่เรื่องง่าย แต่ในระยะเวลา 4 ปี ของการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พิสูจน์แล้วว่าการ “เชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน” ตามนโยบายหลักคือ Connect the Dots อย่างมีกลยุทธ์สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้จริง

ฝ่าวิกฤตโควิด-เชื่อมสัมพันธ์ซาอุฯ :
สำหรับผลงานสำคัญที่ภาคภูมิใจช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้นำพาหอการค้าไทยให้มีบทบาทนำในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หอการค้าฯ ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและพันธมิตร โดยการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีน 25 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบให้กับศูนย์อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบบริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนจนเกือบ 80% ของประเทศให้มีภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ไทยสามารถเปิดประเทศได้รวดเร็วและปลอดภัย
อีกหนึ่งบทบาทเชิงรุก คือการช่วยเปิดประตูการค้ากับจีนในช่วงวิกฤต โดยการร่วมเจรจากับรัฐบาลจีนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน สามารถส่งออกสู่ตลาดจีนต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
หอการค้าฯ ยังได้แสดงบทบาทนำเชิงนโยบายระหว่างประเทศ ด้วยการนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการกับซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ความสัมพันธ์ชะงักมานานกว่า 30 ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการ Connect the Dots ภาคส่วนต่างๆ เพื่อมาช่วยกันลงมือทำ สร้างโอกาสให้เกิดขึ้น กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่จับต้องได้ และส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง”
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังติดหล่ม :
นายสนั่น กล่าวอีกว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยยังขยายตัวในอัตราต่ำ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังติดหล่ม ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบการส่งออก ไปจนถึงปัจจัยภายใน เช่น หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว อุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาต้นทุนแรงงานราคาถูก และการพัฒนาทักษะแรงงานที่ยังไม่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องการ “เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่” (New Growth Engine) ที่ไม่ใช่แค่การพูดถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีลอย ๆ แต่คือการลงมือเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นเราอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเร่งสร้างเสน่ห์ใหม่ ดึงดูดการลงทุนด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายที่ต่อเนื่อง
หากไทยไม่มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง การยกระดับการศึกษาและทักษะแรงงาน การเตรียมความพร้อมต่อสังคมสูงวัย และที่สำคัญคือเสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไทยอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคไปอย่างน่าเสียดาย
3 วาระด่วนฝากกรรมการชุดใหม่ :
เมื่อถามถึงวาระเร่งด่วนที่อยากให้ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ได้สานต่อ นายสนั่น กล่าวว่าคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ตนมีความเชื่อมั่นว่าสามารถเข้าใจบริบทเศรษฐกิจไทยอย่างลึกซึ้ง และมีความสามารถในการนำพาองค์กรสู่เป้าหมายใหม่ได้อย่างมั่นคง
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า หรือการกลับมาของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่มีการกดดันประเทศคู่ค้าทั่วโลกด้วยมาตรการทางภาษีและการเจรจาแบบแข็งกร้าวไทยจึงไม่มีเวลารอช้า เราต้องเร่งปรับตัว และตั้งรับเชิงรุก
ในมุมมองของตนวาระเร่งด่วนที่อยากฝากให้คณะกรรมการชุดใหม่เร่งขับเคลื่อนต่อมี 3 เรื่องหลักที่ภาคเอกชนต้องทำงานประสานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด ได้แก่
(1)การผลักดันการส่งออก ไทยต้องเปิดตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม และใช้โอกาสจากเวทีการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อเชิงเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
(2)การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีสะอาด และสุขภาพ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทยและ
(3)การขับเคลื่อนการเจรจาการค้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างความสมดุลทางการค้า การลงทุน กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ดังนั้นไทยต้องมีบทบาทเชิงรุกในทุกโต๊ะเจรจา ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ
พร้อมกันนี้ ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐนั่นคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน การส่งเสริม SMEs ให้เข้มแข็ง และการผลักดันให้ภาคการเงินปล่อยสินเชื่อที่เอื้อต่อธุรกิจขนาดเล็กและคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568