สงครามภาษี "ทรัมป์" เขย่าเศรษฐกิจโลก ผลักนานาประเทศสู่ภาวะ "เลือกข้าง"
กำแพงภาษีทรัมป์ จุดชนวนสงครามการค้าระลอกใหม่ WTO IMF และ World Bank ผนึกเสียงเตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย ผลักประเทศต่างๆ เข้าสู่ภาวะเลือกข้าง
การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการตั้งภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงลิบลิ่วแบบเหมารวม พร้อมขู่ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มกับประเทศที่สหรัฐมีดุลการค้าขาดดุลมากที่สุด นโยบายเชิงรุกครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระลอกใหม่ ที่อาจทำลายระเบียบเศรษฐกิจโลกที่วางรากฐานมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
องค์การการค้าโลก (WTO) ภายใต้การนำของ เอ็นโกซี โอกอนโจ-อิเวอาลา ผู้อำนวยการใหญ่ชาวไนจีเรีย ประกาศตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดว่าการค้าสินค้าทั่วโลกในปีนี้จะหดตัวลง 0.2% อันเป็นผลโดยตรงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ แม้เขาจะประกาศเลื่อนการเก็บภาษีบางรายการออกไป 90 วันเพื่อเจรจากับกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่ท่าทีแข็งกร้าวกับจีนยังดำเนินต่อเนื่อง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ
WTO เตือนว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แนวโน้มการค้าโลกในปี 2025 จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ถึง 3 จุดเปอร์เซ็นต์ ขณะที่เศรษฐกิจโลกทั้งระบบอาจสูญเสียกำลังการผลิตมากถึง 7% หากประเทศต่างๆ ถูกบีบบังคับให้ต้อง “เลือกข้าง” ระหว่างสหรัฐและจีนอย่างชัดเจน
ด้านธนาคารโลก (World Bank) ภายใต้การนำของอาเจย์ บังกา ก็ออกมาเตือนเช่นกัน โดยระบุว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องพึ่งพาการค้าอย่างหนัก บังกาเน้นว่าท่ามกลางความวุ่นวายนี้ รัฐบาลและภาคธุรกิจเริ่มลังเลที่จะลงทุน ขาดความเชื่อมั่นในทิศทางนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ
“ความไม่แน่นอนและความผันผวนกำลังทำให้การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนระงับชั่วคราว และนั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้า” บังกากล่าว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เปิดโต๊ะเจรจาทางการค้าโดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้การนำของคริสตาลินา จอร์จีวา ก็เผยรายงานล่าสุดที่ระบุว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในตอนนี้มีแนวโน้มจะสะท้อนผ่านมาตรการภาษี การกีดกันทางการค้า และการคว่ำบาตร ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โดย IMF เตือนว่า ทิศทางของนโยบายสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์กำลังผลักโลกเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจการเมืองแบ่งขั้ว” ที่อาจลุกลามเป็นภาวะถดถอยทั่วโลก
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เตรียมประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.25%
ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากผลกระทบของนโยบายภาษีจากสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์ต่างจับตามองถ้อยแถลงของคริสตีน ลาการ์ด ผู้ว่าการ ECB ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไรต่อสถานการณ์นี้
ในฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประธานเจอโรม พาวเวลล์ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ โดยต้องการรอดูทิศทางนโยบายของทรัมป์ให้ชัดเจนก่อน พร้อมเตือนว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งกระทบต่อเป้าหมายหลักของ Fed ทั้งในด้านการจ้างงานและเสถียรภาพด้านราคา
พาวเวลล์ระบุว่า “ระดับภาษีที่ประกาศเพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาก็อาจจะรุนแรงกว่าที่เราคาดเช่นกัน ทั้งในแง่เงินเฟ้อและการเติบโตที่ชะลอลง”
บทความวิเคราะห์ล่าสุดจากสถาบัน Peterson Institute โดยนักเศรษฐศาสตร์ เดวิด เอช. เฟลด์แมน และแกรี ไคลด์ ฮัฟบาวเออร์ เตือนว่าสหรัฐกำลังเสี่ยงต่อการย้อนกลับไปสู่ยุค “ศูนย์ผลรวม” ของการค้าโลก ที่ชาติมหาอำนาจต่างแข่งขันกันกีดกันทางการค้าเช่นเดียวกับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางทหาร
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568