ไทยร่วมกับผู้นำโลกประกาศคำมั่นในการดำเนินการเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Global COVID-19 Summit ครั้งที่ 2 โดยมีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน ภายใต้ระเบียบวาระที่ 1 เรื่อง การป้องกันความชะงักงันอันเป็นผลจากโรคระบาด และการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม (Preventing Pandemic Fatigue and Prioritizing Preparedness) ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยมีผู้นำรัฐบาล/ประเทศ และรัฐมนตรีประเทศต่าง ๆ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม และบริษัทเอกชน รวมทั้งมูลนิธิเพื่อการกุศลชั้นนำของโลกเข้าร่วม
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวคำมั่นของไทยเกี่ยวกับการดำเนินการภายในปี 2565 ร่วมกับประชาคมโลกเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้
(1) ไทยมีแผนบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 3.3 ล้านโดส ให้ประเทศที่ขาดแคลน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้บริจาคไปแล้ว 1.3 ล้านโดส
(2) ไทยจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและขยายการฉีดวัคซีน ให้ครอบคลุมประชากรและคนทุกกลุ่มในประเทศให้ได้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง
(3) ไทยจะดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการรับมือโควิด-19 แก่นานาประเทศอย่างต่อเนื่อง
(4) ไทยพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างประเทศในการวิจัย พัฒนา ทดสอบ และผลิตวัคซีน โดยมีแผนจะขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 3566
(5) ไทยให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ระหว่างปี 2563 - 2567 ปีละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนดังกล่าวได้จัดสรรเงินสนับสนุนการดำเนินโครงการในการรับมือกับโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ และ
(6) ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งกองทุนด้านความมั่นคงทางสุขภาพโลกภายใต้ธนาคารโลกในหลักการเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคต ทั้งนี้ ไทยยังได้เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขของโลกให้ดียิ่งขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต
การประชุมฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดยสหรัฐฯ ร่วมกับเซเนกัล ในฐานะประธานกลุ่มสหภาพแอฟริกา (African Union) เบลิซ ในฐานะประธานประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM) เยอรมนี ในฐานะประธานกลุ่ม G7 และอินโดนีเซีย ในฐานะประธานกลุ่ม G20 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำระดับสูงของโลกมาร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน 3 ด้าน ได้แก่
(1) การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมและทั่วถึง (Vaccinate the World)
(2) การตรวจหา ป้องกัน และรักษาในการจัดการกับโควิด-19 (Save Lives Now) และ
(3) การสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Build Better Health Security) ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้นำประเทศต่างๆ ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า
ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565