บอร์ดบีโอไอเล็งถกมาตรการรับมือภาษีโดนัลด์ ทรัมป์ 19 พ.ค. 68
บอร์ดบีโอไอเตรียมหารือ 19 พ.ค. 68 มุ่งถกมาตรการรับมือภาษีโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พ.ค.นี้จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอที่กระทรวงการคลัง โดยจะมีวาระพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับการออกมาตรการใหม่ และปรับปรุงมาตรการเก่ารองรับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยต่อไป
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับสถานการณ์ในโลกยุคใหม่ได้ ซึ่งมีทั้ง 2 ส่วน คือส่วนที่ปรับใหม่จากเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ด้วย
"จากนโยบายกระทรวงการคลังที่ว่า ต่อไปนี้การลงทุนจะดูที่สัญชาติไม่ได้ดูที่โลโคคอนเทนท์เป็นหลัก ซึ่งจะมีส่วนในการพิจารณาเพื่อลงทุนด้วย ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่บีโอไอพยายามทำมาตรการในช่วงที่ผ่านมา คือมาตรการด้านการลงทุนระหว่างต่างชาติและคนไทย เพราะเมื่อบีโอไอเดินทางไปเชิญชวญต่างชาติมาลงทุนโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี ก็อยากให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีในบริษัทที่จัดตั้งในประเทศไทย และกำลังพิจารณาแนวทางเพื่อขยายไปอุตสาหกรรมอื่นนอกจากยานยนต์ที่ได้ออกมาแล้ว"
ส่วนแนวทางที่จะสนับสนุนการลงทุนหลักจะมีเครื่องมือ 3 ส่วน ประกอบด้วย
* บีโอไอ ถือเป็นเครื่องมือด้านบริการ เช่น การจัดหลักสูตรเทรนนิ่งผู้ประกอบการในการลงทุนซึ่งทำต่อเนื่องมากว่า 20 รุ่นแล้ว เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ไปถึงหน่วยงานราชการปลายทาง
* กระทรวงการคลัง สนับสนุนด้านภาษี ซึ่งถ้าการลงทุนต่างประเทศแล้วมีกำไรกลับมาจะมีเงื่อนไขต่างๆ เช่นต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่กำหนด และต้องไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
* เครื่องมือทางการเงิน โดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) จะมีเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนต่างๆ
*
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 3 ส่วนทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนปลายทาง คือ สถานทูตที่มีทั้งทูตพาณิชย์ และสำนักงานบีโอไอ เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนปลายทางด้วย เช่น ประเทศเป้าหมายต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐ คือ อาเซียน บีโอไอก็จะมีออฟฟิศที่ไปตั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น รวมถึงตะวันออกกลางที่มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพสูงเป็นกลุ่มประเทศที่มีคนไทยไปลงทุนสูง
"ยังมั่นใจว่ายอดการลงทุนในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดี แม้จะมีเรื่องของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เพราะท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสที่ไทยยังเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความพร้อม ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร รวมถึงความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน บุคลากร มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ มีไฟฟ้าที่เสถียรและมีศักยภาพในการจัดหาไฟฟ้าได้เพียงพอ มีไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด รวมทั้งมีที่ดินที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ถือเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยเมื่อนักลงทุนต้องการย้ายฐายการผลิตจะเริ่มต้นธุรกิจจะรวดเร็วได้ที่ไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568