จับตา "อุบัติการณ์" ใหม่ ในสงครามการค้าโลก
ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กระทำการในสิ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นการขุดรากถอนโคนระเบียบการค้าโลกที่มีอยู่เดิมไปโดยสิ้นเชิง เริ่มจากการประกาศอัตราภาษีศุลกากรใหม่ จากนั้นก็ผ่อนปรนให้เวลาเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาต่อรอง พร้อม ๆ กับคำข่มขู่ที่ว่า หากเงื่อนไขของประเทศใด ๆ ไม่เป็นที่ชื่นชอบของสหรัฐอเมริกา ประเทศนั้น ๆ จะต้องเผชิญกับการ “ลงโทษ” ด้วยพิกัดอัตราภาษีที่สูงลิ่ว
นั่นคือรูปแบบของสงครามการค้า ที่ทรัมป์ ประกาศต่อนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการค้าที่รวมตัวกันหลวม ๆ หรือเป็นสหภาพที่รวมตัวกันภายใต้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด เป็นรูปแบบที่ไม่ได้ใส่ใจในความเป็นจริงของการเจรจาต่อรองทางการค้า ว่าสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 90 วันที่กำหนดให้ เป็นรูปแบบที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ก่อให้เกิดภาวะชะงักงันให้กับระบบการค้าของโลกมากกว่าอย่างอื่น
ภายใต้แรงกดดันที่ถูกสร้างขึ้นจากความไม่แน่นอน ไร้กฎเกณฑ์ ของสงครามการค้าของทรัมป์ ย่อมมีการดิ้นรนหาทางออก อุปมาเหมือนไอน้ำในกาต้มน้ำที่กำลังเดือดพล่าน สุดท้ายก็ต้องหาช่องทางระบายออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในทำนองเดียวกัน อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นประธานาธิบดีแห่งสหภาพยุโรปก็ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกใช้วิธีการเจรจาต่อรองแบบธรรมดาทั่วไปกับทรัมป์เสียที
รายงานของ POLITICO เปิดเผยไว้ว่า ในช่วงท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ฟอน แดร์ ไลเอิน เสนอแนวทางใหม่ในการรับมือกับสงครามการค้าของทรัมป์ต่อที่ประชุม และได้รับการสนองตอบในทางบวกจากที่ประชุมในวันนั้น
แนวความคิดที่ประธานกรรมาธิการอียูนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอียูในวันนั้นก็คือ การนำเอา “สหภาพยุโรป” ที่มีสมาชิกรวม 27 ประเทศเข้าร่วมกับ กลุ่มการค้าเสรีในเอเชียที่เรียกตัวเองว่า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, หรือ CPTPP) ซึ่งมีภาคีสมาชิก 12 ประเทศ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือสหราชอาณาจักร (ยูเค) เป้าหมายสำคัญก็เพื่อ “สร้างความริเริ่มใหม่ทางการค้าระดับโลก” ขึ้นมา
ฟอน แดร์ ไลเอิน ระบุว่า การรวมกลุ่มกันดังกล่าวนี้ หากเป็นไปได้จริงจะเป็นการออกแบบระเบียบการค้าโลกที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานขึ้นมาใหม่ และอาจส่งผลให้เกิดการ “ปฏิรูป” หรือไม่ก็ทำหน้าที่แทน องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งในเวลานี้อยู่ในสภาพที่พิกลพิการ ไม่อาจทำหน้าที่ขององค์กรได้โดยสิ้นเชิงก็เป็นได้
แผนที่ว่านี้จะเป็นการแสดงให้ทั้งโลกเห็นได้ว่า การค้าเสรีที่มีชาติสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมากนั้นยังเป็นไปได้ หากวางอยู่บนรากฐานของข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ CPTPP ไม่มีสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย
ประธานกรรมาธิการอียูอธิบายว่า ในอนาคต ขึ้นอยู่กับสมาชิกของอียูและ CPTPP ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วยหรือไม่ “แต่ตามที่เข้าใจ ฝ่ายอเมริกันเป็นฝ่ายเลือกที่จะผละจากไปในจุดหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว” นั่นคือการถอนตัวของสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีหลัก ในตอนที่ความตกลงนี้ยังเป็นเพียงความตกลงทีพีพี และผู้ที่สั่งให้ถอนตัวในครั้งนั้นก็คือทรัมป์
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แนวความคิดเรื่องการร่วมมืออย่างเป็นทางการมากขึ้นระหว่างอียูกับกลุ่มการค้าเสรีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนี้ ไม่ได้จู่ ๆ ก็ถูกนำเสนอขึ้นมา แต่แพร่หลายและถูกพูดถึงกันบ่อยครั้งในฝ่ายบริหารของอียูในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ในฐานะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะตอบโต้กับสงครามภาษีของทรัมป์
“โดนัลด์ ทัสก์” นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งอียูในขณะนี้ ยืนยันชัดเจนว่าอียูจำเป็นต้องทำ “อะไรใหม่ ๆ มาก ๆ หรือบางทีอาจเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ให้เหมาะสมกับมิตรของเราจากอีกฟากของแอตแลนติก” เพื่อตอบโต้สงครามภาษีของทรัมป์
ตามรายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอของฟอน แดร์ ไลเอิน นี้ได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้นำอียูส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้รับความเห็นชอบจากหนึ่งในผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของสหภาพยุโรปอย่าง “ฟรีดริช เมิร์ซ” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ให้ความเห็นว่า ถ้าหากดับเบิลยูทีโอไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่เคยเป็นมานานหลายปี และยังคงเป็นอยู่เช่นนั้นในเวลานี้ “พวกเรา ซึ่งยังคงยึดถือว่าการค้าเสรีเป็นสิ่งสำคัญ ก็จำเป็นต้องพัฒนาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาทดแทน”
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ อียูเหลือเวลาเพียงไม่ช้าไม่นานก็ต้องเผชิญหน้ากับ “เส้นตาย” ที่สหรัฐอเมริกาขีดไว้ให้ทำความตกลงทางการค้า เพื่อเลี่ยงไม่ให้ถูกลงโทษโดยมาตรการทางภาษี ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยคำข่มขู่ของทรัมป์ก่อนหน้านี้ก็คือว่า หากอียูไม่สามารถทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกาได้ภายใน 9 กรกฎาคมนี้ อาจถูกปรับขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสูงถึง 50%
ประเด็นที่ถกกันในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียู ก็คือ การเจรจาต่อรองเพื่อทำความตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ อย่างดีที่สุดจะเป็นได้เพียงแค่ความตกลงหยาบ ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ความตกลงที่ดีต่ออียูอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะย่ำแย่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
ภายใต้บริบทของสงครามการค้าอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ชวนให้น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่า ฟอน แดร์ ไลเอิน และอียู จะตัดสินใจอย่างไร โอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา หรือเลือกที่จะปฏิเสธ ซึ่งจะทำให้สงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับอียูยืดเยื้อต่อไป แล้วหันไปดำเนินการเพื่อรังสรรค์ ระเบียบการการค้าโลกใหม่ ภายใต้กรอบ CPTPP กันแน่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ประชาชาติธุรกิจ