กกร. ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง ลุ้นผลเจรจาภาษี หวั่นการเมืองซ้ำเติม
กกร.ระบุเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอ่อนแรง จับตาเจรจาภาษี หวั่นการเมืองขาดเสถียรภาพยิ่งซ้ำเติม เตรียมเร่งดำเนินการเชิงรุก เข้าพบ ธปท. สภาพัฒน์ คลัง พาณิชย์ ตั้งทิศทางเดินหน้าเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน
นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมร่วมกันว่า กกร. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 ลงมาอยู่ที่กรอบ 1.5-2.0% โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการประเมินที่สวนทางกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 2.3%
ทั้งนี้ ปัจจัยลบสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าที่คาดการณ์ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ
"เสถียรภาพการเมืองมีความสำคัญ ซึ่งความไม่แน่นอนสร้างผลกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศ ทั้งเรื่องการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐตามแผน"
เบื้องต้น กกร. ประเมินว่าหากไทยยังถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% เศรษฐกิจจะโตได้ราว 2.0% แต่หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 18% GDP จะลดลงมาใกล้เคียง 1.5%
ส่งออกแผ่ว-บาทแข็งค่าซ้ำเติม :
แม้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีจะขยายตัวถึง 14.9% แต่ กกร. ชี้ว่าเป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่ช่วงชะลอการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ 90 วัน จะสิ้นสุดลง และคาดการณ์ว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 10% ส่งผลให้ทั้งปี 2568 การส่งออกอาจขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน
อีกทั้งยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ทั้งนี้ กกร. จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนถึง ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ รววมถึงดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
นอกจากนี้ กกร. ยังชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ปัญหาการสวมสิทธิ์ส่งออก
(Transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ เช่น การจ้างงานในประเทศ
โดย กกร. เตรียมที่จะขอเข้าพบหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ ทั้ง ธปท., สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วนต่อไป
"กกร. ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เตรียมแผนที่จะเสนอหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้มีการจัดลำดับและให้ความสำคัญภาคส่วนที่น่าเป็นห่วง ในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า และเข้าใจปัญหารวมทั้งกำหนดการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเรียกความเชื่อมั่น"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 กรกฏาคม 2568