กกร.เตรียมนัดถก 4 หน่วยงานหารือเศรษฐกิจ รับยังห่วงเสถียรภาพการเมือง
กกร.เตรียมเข้าพบ 4 หน่วยงานหลักเพื่อหารือผลักดันเศรษฐกิจไทยในระยะ 6 เดือน และ 1 ปี พร้อมยอมรับเอกชนยังให้ความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ยอมรับการส่งออกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.มีแนวทางที่จะขอเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง กกร.เตรียมเร่งประสานขอเข้าหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน
รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรมและจัดลำดับความสำคัญ โดยมองไว้อยู่ 2 ระยะคือ ระยะ 6 เดือน และ 1 ปี เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ในการส่งเสริมการปรับความสามารถในการผลิตของไทย (Competitiveness) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนจากต่างชาติที่ ธปท.ร่วมกับสภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ และ กกร. ร่วมกันศึกษา
นอกจากนี้ กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่าง ๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก
ขณะที่การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9% YOY จากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณแผ่วลง และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10% YOY ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariffs ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนด้วย Long Haul ได้
รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 2.3% ดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม
อีกทั้ง กกร.มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5 บาท/ดอลลาร์ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบ (NEER) แข็งค่าเทียบเท่าก่อนปี 2540 ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างมาก ภาวะการเงินที่ตึงตัว สินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า
จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท เช่น การซื้อขายทองคำ การเกินดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) จาก Error & Omission ที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
ขณะที่โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 1.4 ล้านราย เข้าข่ายร่วมโครงการ 6.3 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท
และล่าสุดได้ขยายสู่ระยะที่ 2 โดยปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” และมาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้แก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ต้องเร่งคู่ขนานกันไปทั้งในการสร้างรายได้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว (Transform) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพทางการเมือง เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพให้มีความชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในภาคของการผลิตแม้การส่งออกไทยในช่วง 5 เดือนจะมีการเติบโต แต่การผลิตภายในประเทศยังเติบโตน้อยมาก เมื่อดูแล้วส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออก ดังนั้น จึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามาดูเรื่องของการสวมสิทธิ เพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้ส่งออกภายในประเทศ พร้อมยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน
อีกทั้งทางอุตสาหกรรมก็ยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องของการเจรจาด้านภาษีไทยกับสหรัฐ ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อการแข่งขัน ถ้าหากเทียบกับคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้น จึงต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 กรกฏาคม 2568