TDRI ผนึกเอกชน หนุนลงทุน มุ่งเศรษฐกิจใหม่
การลงทุน คือ กุญแจดอกสำคัญ ที่สามารถช่วยยกผลิตภาพของประเทศและการสร้างนวัตกรรม เป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเข้าสู่ยุคดิจิทัล การแบ่งขั้วการเมืองระหว่างประเทศ นำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนา “มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ หนุนผู้ประกอบการไทยด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่”
แผน 5 ปี บีโอไอ :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศยุทธศาสตร์การลงทุน 5 ปี (2566-2570) เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่ที่มี 3 หลักสำคัญ คือ innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวให้เร็วและสร้างการผลิตเติบโตสูง inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาสและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยตั้งเป้าหมายนำพาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุน 5 ด้านของภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ศูนย์กลางการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Hub)
ศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก(Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & Business Hub) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Hub)
“บีโอไอจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (promoter) มาสู่การให้น้ำหนักกับการเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (connector) มากขึ้น เพราะจากนี้ไปสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมีบทบาทลดน้อยลง แต่การทำให้เกิดความสะดวกในการลงทุน และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยสำคัญ”
นายนฤตม์กล่าวว่า ในโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทาย ความผันผวน และมีการแข่งขันสูง บีโอไอจะเป็นองค์กรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการผลักดัน 7 หมุดหมายแห่งอนาคตให้เกิดผล เป็นรูปธรรม
7 หมุดหมายแห่งอนาคต :
7 หมุดหมาย ประกอบด้วย
1).การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น
2).เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ smart & sustainability
3).ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค
4).ส่งเสริม SMEs และ startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก
5).ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง
6).ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และ
7).ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ
ด้วยการเสริมจุดแข็งใหม่ คือ ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of investment & living) ความยืดหยุ่น (resiliency) และเขตปลอดอากร (conflict-free zone) จากเดิมที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดี supply chain ครบวงจร บุคลากรโดยรวมมีคุณภาพ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ สิทธิประโยชน์แข่งขันได้ สภาพแวดล้อมน่าอยู่ เป็นมิตรกับธุรกิจ และมีต้นทุนที่เหมาะสม
3 เสียงเอกชน :
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า บทบาทของ BOI ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ครบเครื่อง ไม่ใช่แค่สนับสนุน แต่เป็นตัวเชื่อมแก้ปัญหา หาก BOI สร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้มากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยได้ 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท ส.อ.ท.พร้อมบูรณาการทำงานในการนำเสนอขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานเชิงรุกร่วมกันออกโรดโชว์นำเสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ให้ต่างชาติรับรู้และเข้าใจถึงจุดอ่อน จุดแข็งของไทยให้โดนใจนักลงทุนต่างขาติและง่ายต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นหัวใจสำคัญ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า บีโอไอจะทำอย่างไรให้การลงทุนโดยตรง (FDI) กระจายลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วถึงทุกภูมิภาคของไทย เชื่อมโยงให้เอสเอ็มอีไทยได้ประโยชน์จาก FDI มากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มีนาคม 2566