เศรษฐกิจโลก 2025 ในทรรศนะ "โกลด์แมน แซคส์"
วาณิชธนกิจระดับโลกอย่าง "โกลด์แมน แซคส์" เผยแพร่คำพยากรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของทั้งโลกในปี 2025 ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยคาดการณ์ว่า โฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกในปีใหม่นี้จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางด้านการเงิน การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และสภาวะทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
วิถีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 3 พื้นที่สำคัญ อย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน จะเป็นไปในแบบทางใครทางมันมากขึ้น กระนั้นก็มีส่วนช่วยให้ จีดีพี ของโลกโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 2.7% จากการผ่อนคลายทางการเงิน และรายได้ครัวเรือนที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ ฟันธงว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวสูงกว่าบรรดาชาติพัฒนาแล้วทั้งหมด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในตลาดพัฒนาแล้วจะลดต่ำลงมาอยู่ในอัตราที่เป็นเป้าหมายได้เมื่อถึงสิ้นปี 2025
โกลด์แมน แซคส์ ฟันธงว่า จีดีพีของสหรัฐอเมริกาจะขยายตัว 2.4%ในปี 2025 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงมาอยู่ที่ 2.4% เมื่อถึงเดือนธันวาคม 2025 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อชะลอลงมากจากมาตรการผ่อนปรนทางการเงินและการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ในขณะที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากการใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาล
คำพยากรณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้งในปี 2025 เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในเดือนมีนาคม และจะปรับลดอีกในเดือนมิถุนายนและกันยายน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดลดลงมาอยู่ที่ 3.5-3.75%
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในเขตยูโรโซน โกลด์แมน แซคส์ พยากรณ์ไว้ว่า จีดีพีจะขยายตัวเพียง 0.8 %ในปี 2025 เพราะปัญหาท้าทายสำคัญในภาคการผลิต ซึ่งเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับแรงกดดันของการแข่งขันจากจีน
ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ได้รับการคาดหมายว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเชื่อว่าเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม อัตราดอกเบี้ยของยูโรโซน จะมาอยู่ที่ 1.75% อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซคส์ เตือนเอาไว้ด้วยว่า อีซีบี อาจ “จำเป็น” ต้องปรับลดดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิมในกรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อยังอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า จีดีพีของจีนในปี 2025 จะขยายตัวลดลงสู่ระดับ 4.5% เพราะมั่นใจว่า มาตรการผ่อนปรนเชิงนโยบายที่รัฐบาลจีนประกาศใช้ ไม่สามารถยับยั้งและชดเชยผลกระทบจากสภาพย่ำแย่ของการบริโภคภายในประเทศได้ ในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังต้องดิ้นรนอย่างหนัก ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยผลสะเทือนจากการปรับขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาอีกต่างหาก
ที่น่าสนใจก็คือ ข้อสังเกตที่ถูกระบุตามมาเอาไว้ด้วยว่า “โกลด์แมน แซคส์” เองยังไม่มั่นใจต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวเท่าใดนัก เหตุผลก็เพราะว่า เศรษฐกิจจีนมีปัญหาท้าทายในเชิงโครงสร้างอยู่มากมายเหลือเกิน รวมทั้งเรื่องอย่าง ปัญหาประชากร ปัญหาหนี้สินที่มีแนวโน้มยืดเยื้อนานหลายปี และปัญหาการลดความเสี่ยงของนานาประเทศลงด้วยการตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว โกลด์แมน แซคส์ แนะนำให้จับตาดูการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกา และพัฒนาการในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด โดยระบุชัดว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ มีตั้งแต่เรื่องขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าจากจีน, การจัดการกับผู้อพยพ, การปรับลดภาษี และการประกาศยกเลิกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาครัฐ
การลดภาษีนั้น มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ก็จริง แต่การขึ้นภาษีศุลกากรจะเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัว จนในที่สุดอาจไม่หลงเหลืออยู่เลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ ยุโรปและจีน ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงกว่า
นอกจากนั้น ปี 2025 ยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ๆ ที่อาจมีที่มาจากความขัดแย้งเดิมทั้งในตะวันออกกลาง สงครามยูเครน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เป็นต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 มกราคม 2568